เมื่อวันที่ 3 พ.ค. รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่อง ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ควรคำนึงถึงคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ใช่คำนึงถึงเรื่องอำนาจการบริหาร ซึ่งการมีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะทำหน้าที่ประสานงานการศึกษาในพื้นที่นั้นๆ ให้สามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาไปได้อย่างตรงจุด เพราะจังหวัดย่อมรู้ว่าจะพัฒนาเด็กในพื้นที่ของตนเองแบบไหน ทั้งนี้สถานการณ์ที่เรื้อรังมาตลอดเวลา 4-5 ปีระหว่างเขตพื้นที่และ ศธจ. เพราะเมื่อมีการโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปที่ ศธจ. มีแต่การยื้อแย่งความรับผิดชอบเรื่องอำนาจบริหารงานบุคคล แต่ตนยังไม่เคยเห็นว่า จะมีกลุ่มใดออกมายื้อแย่งความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กที่ตกต่ำลงบ้าง

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในอนาคตจะต้องมีการกระจายอำนาจการจัดการให้จังหวัดรับผิดชอบโดยตรง หากจังหวัดที่มีความพร้อมอาจะมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของจังหวัดประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชน หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทางการศึกษาของจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและเหมาะสมกับบริบทของจังหวัดและโรงเรียนใดที่มีความพร้อมก็ให้เป็นนิติบุคคลได้ ส่วน ศธจ.ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการอาจจะเป็นพนักงานราชการ จ้างนักบริหารมืออาชีพจริงๆ ให้เงินเดือนตอบแทนสูง ทำสัญญาจ้าง 4 ปี มีการกำหนดผลลัพธ์การบริหาร ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปี ส่วนการทำงานของพื้นที่การศึกษาควรเป็นอิสระจากส่วนกลางแต่ให้ขึ้นกับจังหวัด ส่วนงบประมาณให้จัดสรรไปยังโรงเรียนโดยตรง และศธ.เป็นเพียงผู้กำกับ ติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาตามนโยบายรัฐและกำหนดทิศทางของประเทศเท่านั้น