จากกรณีนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก มีการทำธุรกิจในเครือข่ายหลายธุรกิจที่เข้าเสนอและรับงานจากหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงในพื้นที่หลายจังหวัด โดยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิต และจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท ภายใต้ 2 บริษัท คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด พบว่าตั้งแต่ปี 54-ปัจจุบัน ทั้งสองบริษัทคว้างานประมูลของหน่วยงานภาครัฐไปถึง 1,544 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 7.5 พันล้านบาท และในจำนวนนี้มี 2 โครงการที่มีวงเงินสัญญาสูงถึง 30 ล้านบาทที่มีเหตุอันควรสงสงสัยว่ามีการฮั้วประมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยละเอียดจากทางดีเอสไอ ก่อนพิจารณารับเป็นคดีพิเศษในสัปดาห์ถัดไป ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 17 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับการดำเนินการตรวจสอบการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของบริษัทกำนันนก หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะเน้นไปที่โครงการที่มีมูลค่าวงเงินงบประมาณเกินกว่า 30 ล้านบาท เบื้องต้นพบแล้ว 20 โครงการ และ 2 ใน 20 โครงการดังกล่าวส่อมีพฤติการณ์ฮั้วประมูล เนื่องจากพนักงานสอบสวนพบว่าในวันที่มีการประกาศโครงการเปิดให้ยื่นซื้อซองมีบริษัทกว่า 30 แห่งเข้าร่วมจ่ายค่าทำเนียมซื้อซองแต่ปรากฏว่าในวันที่มีการประมูล e-bidding หรือเรียกว่าวันเปิดซอง พบเหลือเพียงไม่กี่ราย ไม่ถึงสิบบริษัท ทำให้ดีเอสไอตั้งข้อสงสัยว่าเป็นพฤติกรรมของการสมยอมราคาโดยกีดกันเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของกำนันนก จึงเป็นเหตุให้ดีเอสไอออกหมายเรียกพยานแก่บริษัททั้ง 58 แห่งที่เคยยื่นซื้อซองใน 2 โครงการ คือ โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว และโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 เข้าให้ปากคำชี้แจงถึงสาเหตุที่ถอนตัวออกจากวันประมูล e-bidding

ขณะที่ทางฝั่งตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จะตรวจสอบโครงการที่มีมูลค่าวงเงินงบประมาณต่ำกว่า 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้งสองหน่วยงานจะเป็นการทำงานโดยมีการประสานข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เนื่องจากจำนวนโครงการทั้งหมด 1,544 โครงการที่สองบริษัทของกำนันนกประมูลได้นั้น จะแบ่งเป็นทั้งโครงการที่มีมูลค่ายิบย่อยและโครงการขนาดใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับการบูรณะทางหลวงสายหลัก การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง การฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย การรับเหมาปรับปรุงซ่อมสร้างผิวจราจรลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต โครงการซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นต้น

นอกจากนี้ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว จะเป็นสาเหตุให้กองคดีคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งนำโดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูลฯ ได้รับข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะคดีพิเศษดังกล่าวนี้ จะถือว่าเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ค) ซึ่งเป็นการกระทำผิดของผู้ทรงอิทธิพล ดังนั้น ทำให้คดีนี้จะต้องมีพนักงานอัยการมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวน ให้คำแนะนำ และตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มการสอบสวนจนเสร็จสิ้นคดี และการมีพนักงานอัยการมาร่วมก็จะดูในระดับภาพรวมของประเทศได้ด้วย อีกทั้งจะต้องมีการเสนอบอร์ดคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อมีความเห็นให้โอนสำนวนคดีในพาร์ตของการฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงทำให้รายนามโครงการทั้งหมดที่บริษัทกำนันนกเคยประมูลได้ หรือที่ตำรวจสอบสวนกลางมีอยู่ จะถูกโอนมายังดีเอสไอให้ดำเนินการแทน

สำหรับโครงการภาครัฐที่มีวงเงินงบประมาณเกินกว่า 30 ล้านบาทซึ่งบริษัทของกำนันนกและผู้ใหญ่โยชน์ (บิดา) เคยประมูลได้นั้น แบ่งเป็น บริษัทของพ่อกำนันนก คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ประมูลได้ 18 โครงการ ขณะที่บริษัทของกำนันนก คือ ป.รวีกนกก่อสร้าง จำกัด ประมูลได้ 2 โครงการ และผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันชัดเจนจากคณะพนักงานสอบสวนแล้วว่าจะมีเพิ่มเติมมากกว่า 20 โครงการนี้แน่นอน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. – วันที่ 20 ก.ย. บริษัทกว่า 58 แห่งที่เคยยื่นซื้อซองประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ เรียกว่าคู่แข่งบริษัทกำนันนก ใน 2 โครงการ คือ 1.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว และ 2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 แต่กลับไม่เข้าร่วมขั้นตอนการประมูล e-bidding เป็นเหตุให้ท้ายสุดบริษัทกำนันนกชนะการประมูลคว้างานไปทำได้นั้น จะทยอยตบเท้าเข้าให้ปากคำในฐานะพยานกับดีเอสไอ เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุที่ถอนตัวไม่เข้าร่วมการ e-bidding ณ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ กองคดีฮั้วประมูลฯ.