ประการแรก เกี่ยวข้องกับ การดำเนินนโยบายทางการทูตที่เป็นไปได้จริงสำหรับยุคสมัยใหม่ เริมจากวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก “ที่เป็นเสรีและมีความเปิดกว้าง” โดยในบริบทของญี่ปุ่นนั้นครอบคลุม “สองทวีป และสองมหาสมุทร” นั่นคือ ทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

ปัจจุบัน อินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนานัปการและอยู่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การปราบปรามการก่อการร้ายและโจรสลัด การปลดอาวุธทำลายล้างสูง ภัยธรรมชาติ และความพยายามฝ่ายเดียวของบางประเทศ ในการเปลี่ยนสถานะภาพ หรือสถานะปัจจุบันที่เป็นอยู่ของดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงมุ่งหวังประชาสัมพันธ์นโยบายเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองมั่งคั่งให้ทั่วถึงทั้งภูมิภาค เพื่อทำให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง เพื่อผลประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ ผ่านการผดุงไว้ซึ่งบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ทั้งในด้านเสรีภาพด้านการลาดตระเวน การคลี่คลายข้อพิพาทอย่างสันติ และการส่งเสริมการค้าเสรี

นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย จับมือหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วมกัน

ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลกในปัจจุบัน ซึ่งตึงเครียดตั้งแต่ต้นปี นั่นคือวิกฤติการณ์ในยูเครน ญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน นั่นคือการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างหนัก และต่อเนื่องกับรัสเซีย โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องแสดงจุดยืนแข็งกร้าวเช่นนี้ เกี่ยวเนื่องกับการเป็นประเทศเอเชียเพียงแห่งเดียว ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ “จี 7”

ประการที่สอง ว่าด้วย ความพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในส่วนของความร่วมมือกับไทยนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น

ธงชาติญี่ปุ่นและธงชาติไทย บนโต๊ะลงนามข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาลไทย

ประการที่สาม ว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจบนแนวทาง “ทุนนิยมสมัยใหม่” โดนตามแนวทางของรัฐบาลคิชิดะนั้น ให้นิยามว่า “เป็นทุนนิยมที่ยั่งยืน” ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงไปในทางเดียวกัน รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) โดยใช้กลยุทธ์ที่รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทุกกระบวนการ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของญี่ปุ่นในเรื่องดังกล่าว แบ่งเป็นการแสวงหาความร่วมมือพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กับพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การกำหนดเป้าหมายสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 สำหรับญี่ปุ่น และการมอบเงินสนับสนุน 2 ล้านล้านเยน ( เกือบ 580,000 ล้านบาท ) เข้าสู่กองทุนด้านนวัตกรรมสภาพอากาศของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่อุปทาน และการรักษาสถานภาพการเป็นคู่แข่งสำคัญลำดับต้นกับนานาประเทศ ในด้านการจัดหาและส่งมอบสินค้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันต้องรวมถึงวัคซีนโควิด-19 ยารักษาโควิด-19 และส่วนประกอบสำคัญในด้านเทคโนโลยี อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และสำคัญที่สุด คือการต้องเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์

นอกจากปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 135 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ปี 2566 ยังเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างญี่ปุ่นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนครบรอบ 50 ปี ครบรอบการก่อตั้งกรอบความร่วมมือและมิตรภาพที่ยาวนานครึ่งศตวรรษแล้ว ซึ่งญี่ปุ่นหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถสานต่อและยกระดับความร่วมมือทุกมิติได้อย่างยั่งยืน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES