พื้นที่กว้างขวางมากกว่า 1,040 ตารางกิโลเมตรของ “ทะเลสาบสงขลา” หรือที่เรียกกันว่าทะเลหลวงนั้น เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง และยังเป็นทะเลสามน้ำแห่งเดียวของประเทศ ที่มีทั้งพื้นที่น้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด ในทะเลสาบก็ยังมีเกาะอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเกาะสี่เกาะห้า กลางทะเลสาบในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งทำรังของนกนางแอ่นกินรังที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะแม่นกนางแอ่นที่หากินในทะเลสาบและรอบ ๆ ทะเล จะเป็นแม่นกที่สมบูรณ์หากินอาหารได้ทั้งพื้นที่น้ำเค็ม น้ำกร่อยและน้ำจืด แม้แต่ปลาหรือกุ้งที่จับได้ในทะเลสาบสงขลา ก็จะเป็นปลาหรือกุ้งสามน้ำ ที่ให้รสชาติที่ดีกว่าปลาจากแหล่งน้ำทั่วไป ชาวประมงรอบ ๆ ทะเลสาบ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งจังหวัดพัทลุง สงขลาและนครศรีธรรมราช จับปลาขายได้ราคาสูงกว่าสัตว์น้ำที่จับได้จากแหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยแห่งนี้ ในทะเลสาบก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝูงโลมาอิรวดี หรือโลมาหัวบาตร เป็นแหล่งน้ำจืด 1 ในจำนวน 5 แห่งของโลกที่มีโลมาอิรวดีอยู่อาศัย และเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ปัจจุบันมีรายงานโลมาอิรวดียังหลงเหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ช่วงระหว่างอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ประมาณ 14-20 ตัวเท่านั้น จากอดีตที่พบมีโลมาอาศัยอยู่ในทะเลสาบประมาณ 100 ตัว และในแต่ละปี ชาวประมงก็พบโลมาอิรวดีลอยตายในทะเลอยู่เป็นประจำ และมีการประเมินกันว่า โลมาอิรวดี สัตว์ที่อยู่คู่ทะเลสาบมาอย่างยาวนาน และอาจจะเป็นได้ว่า โลมาในทะเลสาบสงขลา จะเป็นโลมาอิรวดีแห่งแรกที่จะสูญพันธุ์

ส่วนสาเหตุการตายของ “โลมาอิรวดีหรือโลมาหัวบาตร” นั้น ส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นกรมประมงและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ก็พยายามทำงานด้านอนุรักษ์ในเชิงรุก มีการจัดตั้งกลุ่มรักษ์โลมาประสานงานเชื่อมต่อกับชาวประมงรอบ ๆ ทะเลสาบ มีการกำหนดแนวเขตห้ามจับปลา สร้างแหล่งอาหารสัตว์น้ำในทะเลสาบและที่สำคัญ จังหวัดพัทลุงได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก รับซื้ออวนตาใหญ่คืนจากชาวประมงที่ใช้ดักจับปลาตัวขนาดใหญ่ในทะเลสาบ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันอะไรได้ โลมาก็ยังว่ายไปติดอวนจับปลาของชาวประมง จะสังเกตได้ซากโลมาที่พบลอยตายในทะเลสาบส่วนใหญ่จะมีบาดแผลบริเวณครีบหาง มีรอยถูกรัดด้วยเครื่องมือจับปลาเสียเป็นส่วนใหญ่ การทำประมงในทะเลสาบสงขลานั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีชาวประมงหลายกลุ่มที่ประกอบอาชีพหาปลาอยู่ในทะเลสาบ แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้เครื่องมือจับปลาในรูปแบบประมงพื้นบ้าน เพราะทะเลสาบสงขลาจะมีแต่ปลาน้ำจืดขนาดเล็ก และจะไม่มีผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของโลมาอิรวดีแต่อย่างใด แต่เมื่อกรมประมงมีโครงการปล่อยพันธุ์ปลาสวายและปลาบึกลงสู่ทะเลสาบ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงใน 3 จังหวัด การทำประมงของชาวบ้านบางส่วนก็เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้เครื่องมือจับปลาเล็ก ก็หันมาลงทุน สร้างเครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่ มาวางเพื่อจับปลาสวายและปลาบึกในทะเลสาบกันเป็นจำนวนมาก อวนที่ดักไว้กลางทะเลข้ามวันข้ามคืน จะมีโลมาส่วนหนึ่ง ว่ายหากินไปติดอวนดักปลาบึกของชาวประมงและถูกทิ้งให้ตายติดอวน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้โลมาอิรวดีหรือโลมาหัวบาตรที่อยู่คู่ทะเลสาบสงขลา ตายปีละหลาย ๆ ตัว ทำให้จำนวนโลมาอิรวดีในทะเลสาบค่อย ๆ ลดน้อยลง และถ้าหากยังไม่มีมาตรการที่จะป้องกันอย่างจริงจัง “อนาคตในไม่ช้า โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาก็จะเหลือแต่ตำนาน”

วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยบูรณาการร่วมกับคนในพื้นที่ในการอนุรักษ์ “โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา” ด้วย.

วรพล เพชรสุทธิ์/บุญเลิศ ชายเกตุ