​หากย้อนดูข้อมูลอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จะพบว่าในเมืองไทยเรา มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

แต่ “หลอดเลือดสมอง” นั้นมีสัญญาณเตือนที่พึงระวังอย่างไรได้บ้าง วันนี้ Healthy Clean ขอพาไปพูดคุยกับ รอ.นพ.สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ในฐานะ Co-Ordinator ศูนย์ PNKG Recovery Center and Elder Care ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมอง ที่ประสบภาวะ “ตีบ แตก หรือตัน” ถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในระยะยาว หรืออาจเป็นผลให้เกิดการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ดังนั้นการเรียนรู้และสังเกตอาการที่อาจบ่งบอกถึงสัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือบุคคลทั่วไปที่จำเป็นต้องดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากหลัก BE FAST ที่เป็นหลักที่เข้าใจง่าย ได้แก่
B – BALANCE: สูญเสียการทรงตัว
E – EYE: มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ หรือสูญเสียการมองเห็น
F – FACE: ใบหน้าอ่อนแรง มีอาการชา หรือปากเบี้ยว
A – ARM: แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชาครึ่งซีก
S – SPEECH: พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ หรือพูดไม่เข้าใจ
T – TIME: เวลาเป็นสิ่งสำคัญ

Stressed young businessman overworking

หากมีอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือโทรฯ เรียกรถฉุกเฉิน (1669) ทันที เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากตัวโรคได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะโรคหลอดเลือดในสมอง มีความจำเป็นที่จะต้องทำการฟื้นฟูร่างกายโดยเฉพาะในระยะฟื้นฟูในช่วงแรกถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการออกกำลังกายเพื้อสร้างความแข็งแรงของระบบกล้ามเนื้อ การฝึกฝนการรับรู้ความเข้าใจ การดูแลภาวะโภชนาการและการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วย ตลอดจนการปรับใช้ความสามารถที่มีต่อกิจวัตรประจำวันพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นฟูตนเองได้อย่างรวดเร็วถือด้วยออกแบบแผนการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยแบบองค์รวมโดยทีมสหวิชาชีพ

สำหรับกระบวนการดูแลโดยศูนย์ PNKG Recovery Center and Elder Care จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติพร้อมทั้งภูมิหลังของผู้ป่วย ก่อนจะทำการตรวจประเมินอย่างละเอียด สรุปปัญหาและออกแบบแผนการฟื้นฟูเป็นรายบุคคล ตั้งเป้าหมายการรักษาตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว พร้อมทั้งประเมินติดตามผลการฟื้นฟูตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งระยะเวลาการฟื้นฟูอาจแตกต่างกันออกไปภายในระยะ 1-3 เดือน ด้วยความร่วมมือจากทีมแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฟื้นฟูจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งความเอาใจใส่ ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด พึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด ตามความสามารถของผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับความต้องการ และความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาความสำเร็จในการฟื้นฟูอยู่ที่ 95% ขึ้นไป

ดังนั้น อย่าลืมว่า “อาการเตือนสำคัญ” ได้แก่ พูดลำบาก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง มึนงง ทรงตัวไม่อยู่ ฯลฯ หากมีอาการเหล่านี้ทันทีทันใด ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โรคหลอดเลือดสมอง “รู้ เร็ว รอด ปลอดอัมพาต”..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”