ย้อนกลับไปเมื่อเดือนม.ค. 2563 เกาหลีเหนือเฝ้ามองสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ด้วยความวิตกกังวล และยกระดับมาตรการควบคุมพรมแดนทั้งที่ติดกับจีนและเกาหลีใต้ “เพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของชาติ” ตลอดระยะเวลา 28 เดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยืนยันการเป็นประเทศ “ปลอดโควิด-19 อย่างแท้จริง” ท่ามกลางความสงสัยของหลายฝ่าย เพราะเป็นการประกาศที่สวนทางกับกระแสโลกในเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง

South China Morning Post

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศ “การแพร่ระบาดอย่างเป็นทางการ” ของโควิด-19 นับจากนั้น สื่อของรัฐบาลเปียงยาง ยืนยันจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างอย่างต่อเนื่อง คล้ายเป็นการสัญญาณจากเกาหลีเหนือว่า การแพร่ระบาดของโรค “รุนแรงและลุกลามรวดเร็วราวกับไฟป่า”

บุคลากรการแพทย์ทหารของเกาหลีเหนือ ช่วยกันนับจำนวนยาก่อนเตรียมแจกจ่าย ให้แก่ประชาชนในกรุงเปียงยาง

นับตั้งแต่โควิด-19 อุบัติขึ้นบนโลก เกาหลีเหนือแทบไม่เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปที่เคยเกิดขึ้นในประเทศของตัวเองมาก่อน การประกาศของรัฐบาลเปียงยางที่ออกมาจึงกลายเป็น “เกมแห่งการคาดเดา” ให้ชาวโลกวิเคราะห์ และจินตนาการกันไปต่าง ๆ นานา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความจริงซึ่งโลกภายนอกรับทราบเท่ากัน นั่นคือ ระบบสาธารณสุขของเกาหลีเหนือยังต่ำกว่ามาตรฐาน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยขนภานในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจแร้นแค้นที่เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตร ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ มีแต่จะยิ่งทำให้วิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้ทวีความรุนแรง และอาจมากกว่าที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ

South China Morning Post

ด้านนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ สั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างไม่มีกำหนด จำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชน และระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ทั้งหมด เร่งผลิตและแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น โดยเฉพาะยารักษาโรค ขณะเดียวกัน ท่านผู้นำวิจารณ์บรรดาผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างเปิดเผย ว่าขาดความรับผิดชอบ ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

ขณะที่สื่อของรัฐบาลเปียงยางเรียกภาวะวิกฤติครั้งนี้ว่า “เป็นกลียุคครั้งยิ่งใหญ่” อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาหลีเหนือขึ้นชื่อในความเป็น “รัฐลึกลับ” และนำเสนอตัวเองมาตลอดว่า เป็นประเทศที่สมบูรณ์ตามแนวทางสังคมนิยม การที่เกาหลีเหนือบอกกับชาวโลก ว่ากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คล้ายเป็นการทำลายกำแพงของตัวเองในที่สุด ยอมรับว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น “แย่จริง ๆ” หรือคล้ายกำลังสิ้นหวัง เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มาก่อน

รถยนต์ของกองทัพประชาชนเกาหลีบรรทุกผักสด สำหรับนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในกรุงเปียงยาง

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และเกาหลีใต้ เดินหน้าเสนอมมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่รวมถึงการส่งบุคลากรลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ แม้ยังไม่มีแนวโน้ม ว่านายคิม จอง-อึน จะยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอก แต่เรื่องนี้น่าจะทำให้เกาหลีเหนืออยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” อยู่ไม่น้อย เพราะระดับท่านผู้นำและกลุ่มคนวงในใกล้ชิดย่อมมีความรู้ดีที่สุด ว่าวัคซีนคือหนทางดีที่สุดในเวลานี้ ในการควบคุมวิกฤติสาธารณสุขเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ และเลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่านผู้นำอาจต้องใช้วิธี “เล่นเกมข้อมูลข่าวสาร” เนื่องจากในอีกด้านหนึ่ง วิกฤติครั้งนี้สามารถสร้างโอกาสให้กับนายคิม จอง-อึน เช่นกัน ในการแสดงภาวะผู้นำของประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยมแบบสุดโต่งเฉพาะตัว ซึ่งประชาชนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ความเป็นจริง” ที่ว่า “ต้องยอมรับและเชื่อมั่นในตัวท่านผู้นำเท่านั้น”

นายคิม จอง-อึน จะจัดการกับภาวะวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องจับตาต่อไป ทว่าในแง่ของการจัดทำโฆษณาชวนเชื่อ อาจออกมาได้ในแง่ที่ว่า โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศแห่งนี้ และถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ แต่ท่านผู้นำแสดงออกอย่างไม่หวั่นเกรง พลิกสถานการณ์ด้วยการลงโทษ “ผู้กระทำผิด” และเร่งระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มี เพื่อช่วยเหลือประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็น “ชัยชนะ” ของท่านผู้นำไปอีกนานแสนนาน

ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้ว นายคิม จอง-อึน จะเลือกเส้นทางเดินแบบใด เพื่อควบคุมวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 น่าจะกระตุ้นให้เกาหลีเหนือตระหนักได้ไม่มากก็น้อย ว่าในยามฉุกเฉินแบบนี้ และยิ่งเมื่อตัวเองไม่มีความพร้อมเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น การโดดเดี่ยวตัวเองต่อไปไม่ช่วยอะไร แต่การเปิดรับความช่วยเหลือ และเพิ่มความร่วมมือกับประชาคมโลก เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญและฝ่าฟันความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS