ตอนนี้ ธัญพืชมากกว่า 20 ล้านตัน ยังคงตกค้างอยู่ตามท่าเรือหลายแห่งในยูเครน ซึ่งเป็นผลจากการที่รัสเซียยึดครองพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ส่งผลให้เรือบรรทุกอาหารเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางออกจากท่าได้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายตะวันตกยังกล่าวหา ว่ารัสเซียทำลายคลังเก็บธัญพืช และโยกย้ายธัญพืชเหล่านี้ออกไปด้วย แต่ยังไม่มีการแสดงหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน

ปัจจุบัน รัสเซียและยูเครนส่งออกธัญพืชรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของโลก โดยประเทศปลายทางรวมถึงในตะวันออกกลางและแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ เลบานอน ตุรกี เยเมน และโซมาเลีย ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนต้องการธัญพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดความมั่นคงทางอาหาร ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาเชื้อเพลิง อาหารอีกหลายชนิด และสินค้าชนิดอื่นด้วย

คุณแม่ชาวอเมริกันแสดงความผิดหวัง เมื่อพบกับชั้นวางนมผงเด็กที่ว่างเปล่า ในร้านค้าแห่งหนึ่ง ของเมืองฮิวสตัน ในรัฐเทกซัส

รายงานโดยโครงการอาหารโลก ( ดับเบิลยูเอฟพี ) ระบุว่า นอกเหนือจากวิกฤติด้านมนุษยธรรมแล้ว ทุกฝ่ายมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น จะสมทบกับปัญหาเดิมที่ยังคงอยู่ นั่นคือวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภัยธรรมชาติ โดยระดับความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางสังคมได้

ด้านผู้สันทัดกรณีมองไปในทางเดียวกัน ว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ คล้ายคลึงกับสถานการณ์เมื่อปี 2550 และ 2551 ซึ่งนำไปสู่การเกิด “จลาจลทางอาหาร” ตามภูมิภาคหลายแห่งบนโลก อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์อาหารที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ มีปัจจัยกระตุ้นสำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาก่อน ยิ่งส่งผลให้ความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ในระดับสูงสุดในรอบศตวรรษ และแนวโน้มของการกเดความไม่สงบทางสังคมที่เป็นผลจากการขาดความมั่นคงทางอาหารนั้น เกี่ยวเนื่องกับการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น วิกฤติการขาดแคลนอาหารที่กำลังดำเนินอยู่ ส่งผลให้หลายประเทศต้องงัดกลยุทธ์พื้นฐานมาใช้ นั่นคือการควบคุมและจำกัดการส่งออกอาหารบางประเภท พูดให้ง่าย คือนโยบายกีดกันทางการค้า เช่น อินเดียระงับการส่งออกธัญพืชและน้ำตาลทราย มาเลเซียระงับส่งออกเนื้อไก่ และอินโดนีเซียแบนการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนานระยะหนึ่ง ก่อนกลับมาเริ่มส่งออกอีกครั้ง

ชายหญิงคู่หนึ่งนั่งรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง ที่ตลาดกลางคืนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร

ในขณะที่รัสเซียและยูเครนถือได้ว่าเป็น “ตะกร้าอาหารเช้าของโลก” เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกธัญพืชรวมกันสูงถึง 1 ใน 4 ของโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่เรียกได้ว่าเป็น “ชามข้าวของโลก” เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้นของโลกอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเวียดนาม แต่ถึงแม้เป็นภูมิภาคสำคัญซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังคงต้องนำเข้าธัญพืชจากต่างประเทศ หมายความว่า ได้รับผลกระทบจากวิกฤติห่วงโซ่อุปทานครั้งนี้เหมือนกัน อาทิ อินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้าธัญพืชเพื่อการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป และขนมปัง

อนึ่ง องค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) และทบวงชำนัญการด้านอาหารของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) อีกหลายแห่ง ที่รวมถึงดับเบิลยูเอฟพี ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องทุกประเทศบนโลก ให้ร่วมกันรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพและการเปิดกว้างทางการค้า และการหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุม เช่น การห้ามการส่งออกอาหารและปุ๋ย

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกไปจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในระยะยาวร่วมกันได้ แต่ในระหว่างนี้ สิ่งที่ทุกภาคส่วนสามารถลงมือปฏิบัติร่วมกันได้ คือการต้องแสวงหาจุดกึ่งกลาง เพื่อการสร้างเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ ป้องกันไม่ให้วิกฤติครั้งนี้เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนามสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) สามารถทำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกใหม่ และการพัฒนากลไกที่มีอยู่เดิม นั่นคือ คณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ( ASEAN Plus Three. Emergency Rice Reserve : APTERR ) ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES