ในที่สุดร่างพ...งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ก็ ผ่านฉลุยหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบไปแล้วใน วาระแรกด้วยคะแนน 278 เสียง ต่อ 192 เสียง

เรียกได้ว่า!! การโหวดครั้งนี้ ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย ไม่มีการ ก่อหวอด หรือคิดพยศ คว่ำกฎหมายฉบับนี้กันใด ๆ เพราะเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองใดเกิดขึ้นก็ตาม ย่อมต้องเกิดขึ้นภายหลังกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้แล้ว

เพราะไม่เช่นนั้น การเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แม้ตามกฎหมายงบประมาณแล้วได้เปิดช่องให้มีการใช้งบประมาณปีก่อนหน้า ไปพลางก่อนได้ ก็ตาม

แต่ในข้อเท็จจริง…เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่ารัฐบาลทุกรัฐบาล!! ต้องพยายามผลักดันในทุกทางเพื่อให้กฎหมายงบประมาณในแต่ละปีมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายให้ได้

ตามปฏิทินงบประมาณ ปี 66 ครั้งนี้ได้กำหนดไว้ในเบื้องต้นว่า หลังจากผ่านวาระแรก ไปแล้วพร้อมกับมีการตั้งกรรมาธิการหรือกมธ.งบประมาณ รวม 72 คน เพื่อตัดทอน ปรับปรุง ให้เหมาะสมที่สุด ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระสอง วาระสาม ประมาณวันที่ 17-18 ส.ค.นี้

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา ที่บรรดาส.ว.ทั้งหลาย ที่ต้องพิจารณารับร่างกฎหมายงบประมาณนี้ ภายในปลายเดือนส.ค. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป ในช่วงต้นเดือนก.ย.65

ที่สำคัญ!! ที่บรรดาส่วนราชการ หน่วยงาน เป็นห่วงกันมากที่สุด ก็คือในช่วงของการพิจารณาของกมธ.นี่แหล่ะ ว่างบประมาณของตัวเองจะถูกตัดทอนถูกลดงบประมาณกันไปมากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกัน ในตำแหน่งหน้าที่กมธ.งบประมาณ ก็เป็นตำแหน่งที่บรรดา “ท่านผู้ทรงเกียรติ” ทั้งหลายต่างถวิลหากันทั้งนั้น เพราะเป็นช่วงอบอวล เป็นช่วงฝุ่นตลบ เป็นช่วงของ ต่างตอบแทน

ระหว่างนี้… ก็ไม่ต้องแปลกใจกันไป เพราะ!! ข่าวคราวความขัดแย้งของการประชุมของกมธ.งบประมาณ ในแต่ละด้าน แต่ละคณะ ก็จะมีให้เห็นกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว

สำหรับงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท นี้ เป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประมาณ 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.74 %

ที่น่าสนใจ!! อยู่ที่ว่า…การจัดสรรงบประมาณนี้ หน่วยงานที่ได้รับการจัดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900.2 ล้านบาท คิดเป็น 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ แม้จะน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 4,526 ล้านบาท ก็ตาม อันดับที่ 2 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 325,578.9 ล้านบาท หรือ 10.2 % ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นถึง 10,065 ล้านบาท

อันดับ 3 ได้แก่ กระทรวงการคลัง 285,230.4 ล้านบาท หรือ 9.% เพิ่มขึ้นถึง 11,627 ล้านบาท ส่วนทุนหมุนเวียน ได้รับจัดสรรเป็นอันดับ 4 วงเงิน 206,985.6 ล้านบาท หรือ 6.5% ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้รับจัดสรรเป็นอันดับ 5 วงเงิน 197,292.7 ล้านบาท หรือ 6.2 % ลดลง 4,373 ล้านบาท

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น!! อยู่ตรงที่ งบกลาง ที่มีมากถึง 590,470 ล้านบาท หรือ 18.5% ของงบประมาณรวมทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโครงสร้างงบประมาณ และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องว่าเป็นการ ตีเช็คเปล่า เพราะไม่มีรายละเอียดของโครงการ

นอกจากนี้รายการ “งบกลาง” ในแต่ละปี ก็มีวงเงินเพิ่มมากขึ้น อย่างในปีงบประมาณ 65 มีการจัดสรรงบกลาง จำนวน 587,409.30 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 64 การจัดสรรงบกลาง อยู่ที่ 614,616.2 ล้านบาท ขณะที่ปี 63 อยู่ที่ 518,770.90 ล้านบาท

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายฝ่ายจะพุ่งเป้า โจมตีไปที่งบกลาง ว่า มีความโปร่งใส มากน้อยเพียงใด เพราะเป็นงบประมาณที่เรียกได้ว่าใช้จ่ายแบบคล่องตัว มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการงบประมาณ ตรวจสอบได้ยาก ไม่ผ่านกลไกการตรวจสอบจากรัฐสภาเหมือนงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงต่าง ๆ

นอกจากนี้ การบริหารและเบิกจ่ายงบกลางในแต่ละรายการ ฝ่ายบริหารสามารถปรับเปลี่ยนและโอนระหว่างรายการได้ตามความเหมาะสมในการบริหาร แตกต่างจากงบประมาณของกระทรวงที่ทำแบบนั้นไม่ได้

ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายหลายพวก จึงมักให้ความสำคัญกับ “งบกลาง” เพราะถือเป็นจุดอ่อนใหญ่ถ้าไม่ระมัดระวังอาจทำให้ขาดวินัยการคลังและมีช่องทางการทุจริตได้ .

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”