พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้มานานกว่า 13 ปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่เน้นการแก้ไขในหมวดคำนิยามของ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ และ ‘สื่อสารการตลาด’ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-9 ก.ค. 2564 ผ่านเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วงเสวนาออนไลน์   คนไทยห่วงสังคม! อยากเห็นกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มข้นสนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนักวิชาการเข้ามาให้ความเห็น  

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เอ่ยถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่า ไม่ได้ระบุแพลตฟอร์มในการเผยแพร่ ทำให้ที่ผ่านมามีรูปแบบโฆษณาแฝงในออนไลน์  ขณะที่การโฆษณาในทีวีแทบจะไม่มีผล เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ดูทีวี  ดังนั้นเมื่อต้องปรับแก้กฏหมาย เพื่อไปควบคุมการโฆษณาในสื่อออนไลน์ ต้องระบุในข้อกฎหมายที่หลากหลาย  ระบุชนิดว่าเป็นสินค้าประเภทไหน กำหนดช่วงเวลา กำหนดอายุผู้ชม

 ผศ.ดร.วลักษณ์กมล  กล่าวว่าในมุมของนักสื่อสารถ้ารัฐเป็นห่วงเยาวชนจะเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย ต้องให้การศึกษารู้เท่าทันกลยุทธ์การขาย  แทนที่จะเข้าไปควบคุมเพียงอย่างเดียว

ในประเทศออสเตรเลียมีสมาคมผู้ผลิตโฆษณาเหล้าเบียร์ กำหนดระเบียบของการโฆษณา เพื่อให้เกิดการควบคุมกันเอง ได้แสดงความรับผิดชอบไม่ปรากฏภาพสุราในสื่อของเด็กเยาวชน  มีมาตราการหลากหลาย ผู้ผลิตอยู่ได้ สังคมต้องรู้เท่าทัน ในประเทศฝรั่งเศล มีข้อยกเว้นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชิงวัฒนธรรมที่สามารถเผยแพร่ผ่านสื่อได้ โดยใช้กฏหมายคำนึงสภาพสังคม”นักวิชาการด้านสื่อสารยกตัวอย่างการบังคับใช้กฏหมายในต่างประเทศ

ที่ผ่านมาแม้มีกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการบังคับจับกุมยังมีช่องว่างในสังคมไทย ทำให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกฮอล์ รุกใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน

ด้าน ผศ.ดร.ชัยวัฒน์  โยธี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าเห็นด้วยของในมุม ดร.วลักษณ์กมล  ยอมรับว่าในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมการดื่ม เพราะเคยเรียนช่างกล ในสมัยนั้นคุ้นเคยการทำตลาดของเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่ขายในราคา 3 ขวดร้อย ทำให้เกษตรกรหันมาดื่มเบียร์มาก ส่งผลให้บริษัทเบียร์มีรายได้มหาศาล

 “ในมุมเศรษฐกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ผู้ร้าย  ดื่มแล้วใช้ความรุนแรง ตีกัน มีอุบัติเหตุประเด็นนี้ไม่เถียง  แต่ที่ผ่านมาในสังคมไทยไม่ปลูกฝังค่านิยมนักดื่มที่ดี ให้ความรู้เรื่องดื่มอย่างไรให้ถูกต้อง พอประมาณ ควบคุมตัวเองได้  ในมุมของผม ประเทศไทยควรให้การเรียนรู้ ดื่มอย่างมีจิตสำนึก  ถ้าเรามีการจำกัดที่เคร่งครัดกว่าเดิม กลุ่มร้านค้าที่เป็นรายเล็กรายน้อย ร้านอาหารกระทบแน่นอน เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นห่วงโซ่ให้ชวนคิด

ผศ.ดร.ชัยวัฒน์  กล่าวต่อว่าในประเด็นในเรื่องคราฟท์เบียร์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผสมศิลปะให้ขายเฉพาะในบาร์ มีข้อห้ามจำกัดการผลิต ทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตคราฟท์เบียร์ ในประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย  ในความเห็นคราฟท์เบียร์ ถ้าเปิดโอกาสให้รายย่อยผลิตมากขึ้น อาจเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างกำไรได้พอสมควร

“ปฏิเสธไม่ได้ในทางปฏิบัติ บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผูกพันกับตลาดเศรษฐกิจ และผูกพันกับกับนักการเมือง เป็นท่อน้ำเลี้ยงของพรรคการเมืองใหญ่ เป็นกลไกการตลาดของภาคเอกชน แม้จะควบคุมอย่างไรก็ยังมีเอี่ยวในผลประโยชน์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย” ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ ระบุ

แนวทางการปรับแก้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551ต้องมองในหลายมิติ และมีข้อมูลมาสนับสนุนเหตุผลในการแก้ไข

อ.พรพล เทศทอง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า กฏหมายที่ดีสุดต้องปรับเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของสังคม มีตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศล  เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฏหมายเมาแล้วขับก่อนหน้าประเทศไทยมาแล้ว30 ปี  จะมองเชิงเศรษฐกิจหรือสุขภาวะอนามัย  ต้องอย่าลืมพื้นฐานสิทธิผู้ประกอบการมีสิทธิ์ ขณะที่ฝั่งประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพด้วย  

 ด้าน ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ร่างกฏหมายปี2551  ปัญหาหลักมาจากโครงสร้างตลาด มีกลุ่มทุนใหญ่ครอบ มีอำนาจเหนือกฎหมาย  เบื้องหลังการออกกฏหมายมีคอนเน็กชัน ทำให้กลไกการออกกฏหมายทำแบบพอเป็นพิธี  จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของตลาดขนาดใหญ่ ปัจจุบันบทลงโทษแทบจะไม่มีผลต่อผู้ผลิตรายใหญ่ ดังนั้นมีข้อเสนอว่าบทลงโทษของผู้ฝ่าผืน ควรปรับผันตามทุนทรัพย์ที่จดทะเบียน และรายได้ของธุรกิจ นอกจากนี้ควรกำหนดราคาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินที่ได้ ไปเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ที่มีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ และผลกระทบทางสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีการควบคุมเวลา ไม่ให้มีแบรนด์สินค้าโผล่ในสื่อ แต่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปผลิตน้ำดื่มที่มียี่ห้อเดียวกัน  จริงๆแล้วแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรอยู่ในสินค้าอื่นใด แบบนี้คือการโฆษณาทางอ้อม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฏหมายอย่างเดียวแต่ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  ผลการสำรวจทางโทรศัพท์จากกลุ่มตัวอย่าง 1,533 คน จาก 15 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าการรับรู้ต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พบว่า ร้อยละ 80 รับรู้ข้อกฎหมายเรื่องสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อายุขั้นต่ำ แต่ต่ำกว่าครี่งไม่รู้ว่า ห้ามดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงโพสต์รูปคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อออนไลน์ และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถให้การสนับสนุนการจัดงานต่างๆ ได้

มุมมองจากนักวิชาการสะท้อนพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีช่องว่าง และการบังคับใช้กฎหมาย ควรทำพร้อมกับการสร้างความตระหนักรู้ เพราะที่ผ่านมายังเห็นภาพไม่ชัด