เมื่อนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ รับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 หลายฝ่ายจับตาด้วยความสงสัยใคร่รู้ ว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร จะเป็นการเดินตามรอยของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ อย่างเต็มรูปแบบในทุกเรื่องหรือไม่ แล้วนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะมีแนวทางบริหารของประเทศอย่างไร ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ที่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” คือ การที่ญี่ปุ่นเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์” ซึ่งกรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.นี้

South China Morning Post

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการเลื่อนจากปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นยืนยันผู้ป่วยรายวัน 7,563 คน เป็นสถิติรายวันสูงสุดในช่วงเวลานั้น ซึงะให้คำมั่นต่อประชาชน ว่ารัฐบาลของเขาจะควบคุมวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้ให้ได้ภายใน 1 เดือน พร้อมทั้งย้ำว่าการแข่งขันโอลิมปิกจะเกิดขึ้นตามกำหนด โดยประกาศสโลแกนว่า “โอลิมปิกคือสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของมนุษย์ ที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา”

ประชาชนเดินผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ริมถนนสายหนึ่ง ในกรุงโตเกียว ที่เป็นการแถลงของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของผู้นำญี่ปุ่นสวนทางกับทรรศนะของประชาชนในประเทศอย่างสิ้นเชิง ผลการสำรวจความคิดเห็นจากสื่อแทบทุกสำนักบ่งชี้ไปในทางเดียวกัน ว่าชาวญี่ปุ่นมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ว่าโอลิมปิกครั้งนี้ “ยกเลิกดีกว่าเลื่อน” เพราะระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังจะรับไม่ไหวแล้ว

อนึ่ง ในสังคมการเมืองของญี่ปุ่นไม่น่าแตกต่างจากทุกประเทศมากนักโดยทั่วไป นั่นคือ “บุคลิกของนักการเมืองสามประเภท” ประเภทแรกคือกลุ่มนักการเมืองที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยโตเกียว ไต่เต้าเข้าสู่วงการเมืองจากการรับราชการ โดยพื้นฐานความคิดหรือจุดยืนทางการเมืองแทบไม่เปลี่ยนจากสมัยยังเป็นนักศึกษา หลายคนอาจพูดไม่เก่ง แต่ในภาพรวมไม่ได้ดูขัดหูขัดตามากนัก

ประเภทที่สอง คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เข้าสู่การเส้นทางการเมือง “ด้วยเปลวไฟแห่งความมมุ่งมั่น” ในฐานะที่เป็น “เด็กนอก” หนึ่งในตัวอย่างชัดเจน คือนางยูริโกะ โคอิเคะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว นักการเมืองกลุ่มนี้มักมีวาทศิลป์เป็นเยี่ยม แต่ในหลายโอกาสเมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดกลับเข้าทำนอง “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง”

ประเภทที่สามคือกลุ่มของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน นั่นคือเป็นผู้ที่ไต่เต้าด้วยตัวเองอย่างแท้จริง จากฐานพีระมิดขึ้นสู่ยอดพีระมิด แน่นอนว่าความสามารถของนักการเมืองกลุ่มนี้ไม่เป็นสองรองใคร อย่างไรก็ตาม ทุกคนย่อมมีจุดอ่อน สำหรับซึงะคือ การมีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ “เงียบขรึมจนเข้าขั้นเฉยชา”

Nippon TV News 24 Japan

การเป็นผู้นำประเทศนั้น ความหล่อความสวยไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ทักษะการสื่อสาร ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้แก่ประชาชน การแสดงออกของผู้นำมีผลอย่างมากต่อการรับรู้ และความเข้าใจของประชาชน แต่ซึงะยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ “ดีพอ”

ญี่ปุ่นจัดการเลือกตั้งซ่อม 2 ที่นั่งในวุฒิสภา และอีกที่นั่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีประชาธิปไตย ( แอลดีพี ) ของซึงะพ่ายแพ้ในทั้งสามที่นั่ง ถือเป็น “เรื่องใหญ่” ของรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากอาจกลายเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้น ของแนวโน้มทางการเมืองในญี่ปุ่น ที่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ต.ค.นี้

วิด-19 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

โรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้สร้างวิกฤติด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมเพียงเท่านั้น แต่กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลซึงะ และพรรคแอลดีพีซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในระดับที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปี ว่าแม้เป็นประเทศแถวหน้าของโลกในหลายด้าน แต่ระบบบริหารจัดการราชการหลายด้านกลับยัง “ล่าช้าอยู่มาก” ความไม่พอใจของชาวญี่ปุ่นต่อซึงะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จากการบริหารจัดการวิกฤติโรคระบาด ที่เชื่อมโยงกับทุกองคาพยพของโครงสร้างในสังคม

อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยของชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่ต่างจากผู้นำประเทศ นั่นคือการไม่แสดงออก “อย่างมากมาย” แต่การที่สถานการณ์มาถึงขั้นที่บริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งลงทุนซื้อโฆษณาสี่สี ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ “เพื่อด่ารัฐบาล” จนเป็นข่าวครึกโครมทั้งในและต่างประเทศ ก็น่าจะเป็นการประกาศความต้องการที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า ชาวญี่ปุ่นกำลังอยากได้ “มากกว่านี้” จากรัฐบาลของซึงะ

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES

-ภาพเปิด-
นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ โค้งคำนับหลังเสร็จส้ินการแถลงขยายคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
ประชาชนเดินผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ริมถนนสายหนึ่ง ในกรุงโตเกียว ที่เป็นการแถลงของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ