โปรไฟล์ของ ‘ไคร่า’ บนอินสตาแกรมระบุว่าเธออายุ 21 ปี เป็นนักล่าฝัน นางแบบและนักเดินทาง ภาพที่เธอโพสต์ลงบนพื้นที่ส่วนตัวของเธอก็ไม่ได้แตกต่างไปจากอินฟลูเอนเซอร์อื่น ๆ ในโลกออนไลน์ โดยมีทั้งเรื่องแฟชั่น กิน-ดื่ม และท่องเที่ยวในสถานที่น่าสนใจ

สิ่งเดียวที่ ไคร่า ไม่เหมือนอินฟลูเอนเซอร์ในโลกให้ความจริงก็คือเธอไม่ใช่คนจริง ๆ แต่เป็นเพียงภาพกราฟิกหรือ CGI ความละเอียดสูงที่สร้างขึ้นโดยบริษัท ‘ท็อปโซเชียล’ เธอเพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ และประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘เมตา-อินฟลูเอนเซอร์’ คนแรกของอินเดีย 

หลายคนมองว่า ไคร่า คือการก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกับการสร้างอินฟลูเอนเซอร์จากโลกเสมือนจริงที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น ‘ลิล มิเคลา’ อินฟลูเอนเซอร์ CGI ที่มีโปรไฟล์เป็นสาวน้อยวัย 19 ปี เชื้อสายบราซิล-อเมริกัน เธอเปิดตัวบนอินสตาแกรมเมื่อปี 2559 และมีผู้ติดตามจนถึงทุกวันนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย 

สาเหตุของการสร้างตัวตนบุคคลจากโลกเสมือนจริงนั้น มองเห็นได้ไม่ยาก ในเมื่อ ‘เมตาเวิร์ส’ กำลังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนและกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายประเภทซึ่งรวมถึงนักโฆษณาและการตลาดด้วย

ฮิมานชู โกเอล หัวหน้าฝ่ายธุรกิจของบริษัทท็อปโซเชียลให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ LinkedIn ไว้ว่า ตอนที่บริษัทเปิดตัว ไคร่า ก็ได้เล็งไปที่ธุรกิจแฟชั่นเป็นหลัก โดยต้องการให้แบรนด์แฟชั่นของอินเดียมีส่วนร่วมในพื้นที่เมตาเวิร์สมากขึ้น

ลิล มิเคลา ผู้มาก่อนคือหน้าตาของแบรนด์แฟชั่นใหญ่ ๆ หลายบริษัท เช่น ปราดา, ชาเนล, เบอร์เบอร์รี นางแบบจากโลกเสมือนจริงรายนี้ยังได้ไปปรากฏตัวในงานเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง ‘โคเชลลา’ เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘Black Lives Matter’ อีกทั้งยังมีภาพถ่ายร่วมกับคนดังในวงการบันเทิงหลายคน

แต่ ลิล มิเคลา และ ไคร่า ไม่ใช่ ‘ผู้เล่น’ เพียงสองคนในโลกเมตาเวิร์ส อินฟลูเอนเซอร์ แอฟริกาใต้มี ‘ชูดู’ ซูเปอร์โมเดลดิจิทัลคนแรกของโลก จีนมี ‘อายาอิ’ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่รับจ้างโปรโมตงานอีเวนต์ของแบรนด์ดังต่าง ๆ ส่วน ‘พูม่า’ ก็มีพรีเซ็นเตอร์เสมือนจริงของตัวเองในชื่อของ ‘มายา’ ทางสิงคโปร์ก็มี ‘เร’ และเกาหลีใต้ก็มี ‘โรซี่ โอ’ 

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีตัวตนเฉพาะในโลกเสมือน กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แพ้คนที่มีตัวตนในโลกแห่งความจริง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้มองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากอินฟลูเอนเซอร์จากเมตาเวิร์สเหล่านี้ ในเมื่อพวกเธอและเขาเป็นเพียงภาพจำลองกราฟิกซึ่งสามารถปรับแต่งรูปลักษณ์ให้ยอดเยี่ยมขนาดไหนก็ได้ แต่ผู้ติดตามซึ่งเป็นคนที่มีตัวตนจริง ๆ ไม่อาจปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ตามใจนึกเช่นนั้น 

ความอยากได้ อยากเป็นให้เหมือน ‘ไอดอล’ เสมือนจริงเหล่านี้ อาจทำให้ชาวโซเชียลหมกมุ่นกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป และเป็นที่มาของการใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองในภาพถ่ายให้ดูดีที่สุด  ซึ่งมีการวิจัยระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพจิต อีกทั้งยังสร้างปัญหาเรื่อง ‘มาตรฐานความงาม’ ที่ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้จริงอีกด้วย

แหล่งข้อมูล : qz.com

เครดิตภาพ : Instagram/kyraig