
บำเพ็ญกุลศลสมโภช 290 ปี
วันที่ 12 มิถุนายน 2565 เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานผ้าไตร จำนวน 30 ไตร ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และสมเด็จบูรพมหากษัตราธิราช ในโอกาสพิธีบำเพ็ญกุศลสมโภช 290 ปี วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ระหว่างวันที่ 12 และ 13 มิถุนายน 2565 โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมพิธีฯ ณ พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระบรมมหาชนกนาถแห่งพระบรมจักรีวงศ์ สำหรับวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ปัจจุบัน มีพระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต ป.ธ.8 เจ้าคณะอำเภอเสนา เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีพระภิกษุจำพรรษา จำนวน 16 รูป (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน และพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 บริเวณสนามหน้าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ สมาคมผู้ปกครอง ศิษย์เก่า เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
โดย นายวีระชัย นาคมาศ ได้กล่าวราชสดุดีรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในโอกาสเดียวกันนี้ ได้มอบทุน “ในหลวงอานันท์” ให้กับศิษย์ที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี จำนวน 4 ราย
สำหรับการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานในครั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ที่ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวนเงิน 1 แสนบาท โดยมีพระราชดำรัส ให้จัดสร้างอาคารถาวร 2 ชั้น 1 หลัง เป็นสถานศึกษา รวมทั้งจัดสร้างหอประชุมพระราชทาน จำนวน 1 หลัง พร้อมบ้านพักครู จำนวน 20 หลัง พระราชทานให้กับโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ทำให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ (วุฒิภัทร ไทยสม /อยุธยา)

จิตอาสาพัฒนา
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่บริเวณโรงพยาบาลบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลบางไทร ในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยมี นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.อ.(พ) ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จว. นายยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอบางไทร นายกเทศมนตรีตำบลบางไทร ผู้บริหารโรงพยาบาลบางไทร จิตอาสา 904 จิตอาสาพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ในโอกาสนี้ ประธานได้รับมอบและทำพิธีเปิดให้บริการคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) มูลค่ากว่า 4.7 ล้านบาท จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีความสมัคร สมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ประกอบกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขของชุมชนส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อให้เกิดความรัก ความผูกพันใน 4 สถาบันหลัก ของชาติ คือ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน จึงกำหนดจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ทางด้านการแพทย์และการศึกษาไทย โดยมีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น โดย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด โรงพยาบาลบางไทร เทศบาลตำบลบางไทร ประมงจังหวัด และประชาชนทุกภาคส่วน รวมจำนวนกว่า 600 คน ร่วมกันพัฒนาภูมิทัศน์ ทำความสะอาด ปลูกต้นไม้ ทาสีรั้ว ภายในพื้นที่โรงพยาบาลบางไทร นอกจากนี้ ยังได้พบปะเยี่ยมเยือนให้กำลังใจแก่ประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มกระตุ้น อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ และที่สำคัญเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย ต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาความสะอาดสถานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดความสวยงาม สะอาด ทั้งภายในและถนนหน้าโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์คงไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ แต่ประชาชนที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบ ตลอดจนผู้สัญจรผ่านเส้นทางนี้ ยังได้เห็นถึงความสะอาดและสวยงามของโรงพยาบาลอีกด้วย (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

รับพระราชทานรถไฟฟ้า
วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วย นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสิงห์บุรี นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้ให้การต้อนรับ พล.ท.กฤษดา สาริกา รองอธิบดี กรมมหาดเล็ก 904 และ พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองเลขาธิการพระราชวัง และเข้าร่วมพิธีรับพระราชทานรถไฟฟ้า ถวายแด่พระราชวชิราภิรม (สนุ่น อธิญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดศรัทธาภิรม ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี พล.ท.กฤษดา สาริกา รองอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904 เป็นประธานในพิธีฯ ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ได้เข้ารับมอบกระเช้าสิ่งของพระราชทาน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

ประเพณีบุญบั้งไฟ
วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ บริเวณลานอเนกประสงค์อ่างเก็บน้ำทับเสลา อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดอุทัยธานี และการแข่งขันเรือยาว ประจำปี 2565 โดยมีนายอลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการพี่น้องประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
โดยก่อนเปิดงานท่าน รมช. ได้รับชมการแสดงประกวดรำเซิ้งบุญบั้งไฟขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง จำนวน 200 คน รำพร้อมกันด้วยเพลง “ออนซอนอีสาน” และมอบรางวัลให้แก่ขบวนแห่วัฒนะธรรมประเพณีบั้งไฟ ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ริ้วขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณีบั้งไฟ การแข่งขันจุดบั้งไฟ กิจกรรมแข่งเรือยาว ประเภทเรือยาว 55 ฝีพาย 40 ฝีพาย และเรือยาว 30 ฝีพาย กิจกรรมประกวด ผาแดง นางไอ่ และกิจกรรมแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบาก
ทั้งนี้บุญบั้งไฟเป็นความเชื่อของคนอีสานในการขอฝนสืบต่อมา จากเรื่องพญาคันคากผู้รบชนะพญาแถน และขอให้แถนบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พญาแถนจึงบอกให้พญาคันคากว่า ต้องการฝนเมื่อใดให้ส่งสัญญานไปบอกด้วยการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าไป พญาแถนก็จะสั่งฝนลงมาให้เมื่อถึงฤดูทำนาจะขอฝนมาทำนา ก็ส่งสัญญานบอกแทนด้วยการจุดบั้งไฟ การจุดบั้งไฟจะทำกันในเดือนหก และจะทำหลังจากการที่ทำพิธีเลี้ยงบ้านไปแล้ว จึงขอให้บุญบั้งไฟเป็นคติความเชื่อถือของชาวไทยอีสานทั่วไป ที่วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ เนื่องจากชาวบ้านต้องทำการกสิกรรมเลี้ยงชีพเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องการน้ำจากธรรมชาติเพื่อเพาะปลูกพืชผลของตนเอง จึงได้มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าเทพเจ้าที่ประทานน้ำให้แก่มนุษย์คือ “พญาแถน” ดังกล่าว (ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม / อุทัยธานี)

แห่เจ้าพ่อกวนอู-หลวงปู่ศุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ ศาลเจ้าพ่อกวนอู อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท นายปิยะ ทองวัฒนา นายกเทศบาลตำบลวัดสิงห์ และคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อกวนอูอำเภอวัดสิงห์ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว งานแห่เจ้าพ่อกวนอู-หลวงปู่ศุข อำเภอวัดสิงห์ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2565 โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2565 สำหรับในปีนี้ ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อกวนอู ได้ทำพิธีเสี่ยงทายคัดเลือกองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม โดยในปีนี้ น.ส.สิริพร เฟื่องจิตต์ ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม ส่วนองค์กิมท้ง ได้แก่ ด.ช.วันชาติ ปั้นจันทร์ ส่วนองค์เง็กนึ่ง ได้แก่ ด.ญ.วรางค์ศิริ พัรภคพงศ์
โดยนายปิยะ ทองวัฒนา นายกเทศบาลตำบลวัดสิงห์ ประธานในพิธีงานแถลงข่าว เปิดเผยว่า สำหรับงานประเพณีแห่เจ้าพ่อกวนอู-หลวงปู่ศุข อำเภอวัดสิงห์ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2503 โดยการนำของนายพานิช ศรีชัย หลังจากการซ่อมแซมศาลเจ้าที่ถูกต้นไม้ใหญ่โค่นทับประตูของศาลเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงได้จัดให้มีการแห่เจ้าพ่อกวนอู-หลวงปู่ศุข มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2504-2505 จนถึงปัจจุบันรวม 10 ครั้ง และในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 11 สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาว่าเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวบ้านบ้านวัดสิงห์ ที่บ่งบอกถึงความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ สำหรับงานในครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2565 โดยไฮไลต์สำคัญภายในงาน วันที่ 5 พฤศจิกายน พบกับ ขบวนแห่เชยเกย (แห่กลางคืน) ชมการแสดงมังกรทอง เอ็งกอ การเชิดสิงโต ในชุดเด็ดดอกเหมย แสง สี เสียงยิ่งใหญ่ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์เทศบาลตำบลวัดสิงห์ และในวันที่ 6 พฤศจิกายน (แห่กลางวัน) พบกับ พิธีอัญเชิญเทพเจ้าออกแห่ประทานพร รวมไปถึง การแสดงมังกรทอง คณะล่อโก้ว เอ็งกอ และการเชิดสิงโต สุดท้ายขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านมาเที่ยวงานชมงานแห่เจ้าพ่อกวนอู-หวงปู่ศุข อำเภอวัดสิงห์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว (สุรพล บำรุงศรี – วรชล ฟักขาว / ชัยนาท)

โครงการผู้ดูแลคนพิการ
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับคนพิการในสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่ โรงแรม โต่ บัก เส็ง อยุธยา อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้พิการ และประชาชน เข้าร่วมในโครงการ โดยมี นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายการวัตถุประสงค์ในการจัดงานนี้
นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2565 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ มีความปลอดภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติ” จากสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของประชาชนทั่วไป และคนพิการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ คนพิการจะประสบปัญหา และมีความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ มากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย การอพยพเคลื่อนย้าย การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ตลอดจนการเยียวยาฟื้นฟู หลังจากการเกิดภัยพิบัติ
สำหรับพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ ลักษณะภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย โดยคนพิการจะประสบปัญหามากกว่าบุคคลอื่น ทำให้คนพิการ อาจเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ หรือสิทธิประโยชน์ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรด้านคนพิการ ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์ ที่เกิดผลกระทบต่อคนพิการดังกล่าว (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ประเมินสถานบันเทิง
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 18/2565 พร้อมด้วย คณะกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยมี นายนครินทร์ อาจหาญ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินการประชุม ผ่านระบบ ZOOM ณ ห้องประชุมอโยธยา ชั้น 3 อาคาร 4 ชั้น ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการบริหารจัดการสถานการณ์และรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 เตรียมความพร้อมสู่โรคประจำถิ่น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลี่คลายลง ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17 ราย ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) จำนวน 161 ราย หลังจาก ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยให้สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่สีฟ้า รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พระนครศรีอยุธยา ภาชี อุทัย และบางปะอิน ซึ่งมีสถานประกอบการที่ได้ยื่นเรื่องขอเปิดดำเนินการ จำนวน 60 แห่ง และผ่านการประเมิน Thai Stop COVID 2Plus แล้ว รวม 39 แห่ง โดยมีแผนการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจประเมินกำกับติดตาม ในวันที่ 14-17 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะอนุญาตให้เปิดดำเนินการในโอกาสต่อไป
ในส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สามารถจัดฉีดวัคซีนภาพรวมทุกกลุ่มอายุ เข็ม 1 คิดเป็น 89.55% เข็ม 2 คิดเป็น 86.77% และเข็ม 3 คิดเป็น 54.89% โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์ เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการมาเยือนของนักท่องเที่ยว เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

เตรียมรับสถานการณ์น้ำ
วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัด พ.อ.(พ) ภัทราวุธ ทิพยโกมุท รอง ผอ.รมน.จ.พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอและผู้แทนทั้ง 16 อำเภอ ผู้แทน ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานเปิดการประชุมทางไกล (Video Conference System : VCS) และได้รับเกียรติจากคณะองคมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุมติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จากห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก เป็นการสรุปภาพรวมในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฎิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ในส่วนที่ 2 เป็นนำเสนอการดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุดท้าย จะกราบเรียนเชิญคณะองคมนตรี ได้ให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติต่างๆ ในลำดับต่อไป
ในโอกาสนี้ ผู้ว่าฯ วีระชัย ได้นำเสนอความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการน้ำของกระทรวงเกษตรและกรมชลประทาน เป็นมาตรการหลังการเกิดมหาอุทกภัย ปี 2554 2. การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีมาตรการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบ่งพื้นที่ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตเมือง/เขตเศรษฐกิจ/โบราณสถาน พื้นที่เขตอุตสาหกรรม และ พื้นที่การเกษตร 3. มาตรการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และติดตามสถานการณ์ 4. การเตรียมความพร้อมเครื่องจักร 5. มาตรการด้านการให้ความช่วยเหลือ และ 6. มาตรการด้านการฟื้นฟู เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย และครอบคลุมทั้งการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

นายกเยี่ยมผู้ป่วย
นางอรนุช คูวิจิตรสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ได้จัดโครงการทอดผ้าป่าขยะจากทุกชุมชนในเขตเทศบาลตำบลวิหารแดงเพื่อสร้างวินัยการกำจัดขยะและจัดหาทุนส่วนหนึ่งจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็น ดังนั้นจึงพร้อมด้วยนายฐิรพงษ์ ธงรัตนะ รองนายกเทศมนตรีและนางภาณี นะราศรี ปลัดเทศบาล ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและคณะจิตอาสา ออกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุพร้อมกับจัดสรรเงินที่ได้จากกองทุนผ้าป่าขยะและสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลตำบลวิหารแดง (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)

หลักสูตร Premium Course
รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เป็นประธานเปิดโครงการ “แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากรผู้มีศักยภาพของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมนมาลย์ เนียมหลาง รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ณ โรงแรม โนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

โรคหลอดเลือดสมอง
ผู้สื่อข่าวรายงามาว่าที่ห้องประชุม พล.อ.อ.เกษตร อาคารสงฆ์อาพาธชั้น 5 โรงพยาบาลสระบุรี นายวิเชียร ระดมสิทธิสาร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลสระบุรี เป็นประธานกล่าวเปิด “โครงการพัฒนาเครือข่ายการดูแลทางสังคมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” โดยมี นางสาวเนียรนิภา บุญอ้วน นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลสระบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน ว่า กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลสระบุรี ได้รับการสนับสนุนจาก คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายการดูแลทางสังคม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมการดำเนินงาน
รูปแบบการดูแลทางสังคม สำหรับผู้ป่วย กลุ่มเปราะบาง ของสหวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในการดำเนินการกลุ่มเป้าหมาย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ดูแลของคลินิกหมอครอบครัวเทศบาลเมืองสระบุรี จำนวน 100 รายโดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยและการจัดการทางสังคม การขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการดูแลทางสังคม ผสมผสาน การประยุกต์ การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ดิจิทัลปฏิบัติการแบบออนไลน์ โดยมีระยะการดำเนินการเดือน มีนาคม 2565-มกราคม 2566 ในการดำเนินงานมีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการได้แก่ คลินิก หมอครอบครัวเทศบาลเมืองสระบุรี กลุ่มงานเวชกรรมสังคม กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู และภาคีร่วมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ อาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี เป็นการร่วมมือทำงานเชิงบูรณการภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนจังหวัดสระบุรี (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)