ด้วยเหตุนี้ หากเกิดปัญหากับห่วงโซ่อุปทานโลก สิงคโปร์จึงถือเป็นประเทศที่เปราะบางอย่างมาก ในการจะได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว ชัดเจนที่สุดในเวลานี้ คือการที่มาเลเซียประกาศระงับการส่งออกไก่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิงคโปร์ “น่าเสียใจ” อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเตรียมพร้อมรับมือ ว่าครั้งนี้เป็นเรื่องของไก่ แต่ครั้งต่อไป อาจเป็นอย่างอื่นที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่านี้ก็ได้

ประชาชนใช้บริการศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง ในย่านใจกลางสิงคโปร์

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์แก้ไขสถานการณ์เรื่องได้ ด้วยการนำเข้าเนื้อไก่แช่เย็นจากออสเตรเลียและไทยมากขึ้น ขณะที่การเพิ่มการนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจะมาจากบราซิลและสหรัฐเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในส่วนของเนื้อไก่สดแช่เย็นนั้น รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มการนำเข้าจากไทยมากขึ้นถึง 10 เท่า

สำนักงานอาหารสิงคโปร์ ( เอสเอฟเอ ) เผยแพร่รายงาน “สถิติอาหารสิงคโปร์” เมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ว่าสิงคโปร์ผลิตผักได้เอง 4% อาหารทะเล 8% และไข่ 30% พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการผลิตอาหารที่จำเป็นเหล่านี้ให้ได้ในสัดส่วน 30% ภายในปีค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 โดยเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลสิงคโปร์เรียกว่า “เป้าหมาย 30×30”

ความมั่นคงทางอาหารถือเป็น “ประเด็นที่มีผลต่อการดำรงอยู่” สำหรับสิงคโปร์ ตามการวิเคราะห์ของเอสเอฟเอ ซึ่งกล่าวด้วยว่า มากกว่า 90% ของอาหารที่บริโภคในประเทศแห่งนี้ มาจากการนำเข้า และมีพื้นที่เพียง 1% ในสิงคโปร์เท่านั้น ที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการเกษตร

ข้าวหน้าไก่ย่าง ที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่งในสิงคโปร์

จวบจนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์มุ่งมั่นสู่แนวทางความยั่งยืนด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม การรบกวนต่อห่วงโซอุทานซึ่งรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากปัจจัยที่เหนือความคาดหมายซึ่งเพิ่มเข้ามา ทั้งโรคโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน นอกเหนือกจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่คุกคามมนุษยชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แม้รายได้ต่อครัวเรือนของสิงคโปร์จัดว่าสูงเป็นลำดับต้นของโลก อย่างไรก็ตาม ครอบครัวในสิงคโปร์ใช้จ่ายเรื่องอาหารน้อยมาก โดยผลสำรวจของภาครัฐปรากฏว่า อยู่ที่เพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ครัวเรือนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ใช้จ่ายมากถึงระหว่าง 30-50% เพื่อการหาซื้ออาหารมาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ ต่อให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมาย 30×30 อย่างไรก็ตาม อีก 70% ที่เหลือ ยังคงต้องเป็นการพึ่งพาอีกเกือบ 180 ประเทศและดินแดนบนโลก ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าอาหาร ทว่าหากเกิดภาวะตึงตัวถึงขั้นขาดแคลนลักษณะนี้อีก ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน ว่าสิงคโปร์จะสามารถรับมือและจัดการกับเรื่องนี้ได้มากเพียงใด

CNA

บรรดาผู้สันทักรณีจึงเสนอแนะ ว่าสิงคโปร์ควรมีคลังอาหารแห่งชาติที่มากกว่านี้ แม้ปัจจุบันมีคลังข้าวสำรอง ตามการเปิดเผยของรัฐบาล และปริมาณข้าวภายในคลัง ณ ปัจจุบัน เพียงพอบริโภคภายในประเทศได้อีกประมาณ 3 เดือน ขณะที่มีรายงานออกมาว่า ระหว่างวิกฤติขาดแคลนไก่ครั้งนี้ บริษัท “แฟร์ไพรซ์” ซึ่งเป็นเครือร้านค้าปลีกรายใหญ่ของสิงคโปร์ มีเนื้อไก่แช่แข็งสำรองได้อีกนานประมาณ 4 เดือน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งหนทางรับมือกับปัญหาลักษณะดังกล่าว ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต คือการที่รัฐบาลสิงคโปร์ควรมีสัญญาหรือข้อตกลงเรื่องเกษตรกรรมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศซึ่งสามารถผลิตอาหาร “ได้อย่างเหลือเฟือ”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES