ทั้งนี้ จีนคือประเทศที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งส่งนักบินอวกาศและสร้างสถานีอวกาศ ตามหลังสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน และสหรัฐ อีกทั้งด้วยความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ จีนหวังว่าสถานีอวกาศเทียงกง จะมาแทนที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ซึ่งจะปลดประจำการในปี 2574

อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานของจีนไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น โดยอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ จีนต้องการเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลก และภายในปี 2573 จีนตั้งเป้าที่จะส่งนักบินอวกาศกลุ่มแรกไปยังดวงจันทร์ และส่งยานสำรวจอวกาศไปเก็บตัวอย่างจากดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี อีกด้วย

เมื่อจีนขยายบทบาทในด้านอวกาศ หลายประเทศทั่วโลกต่างตั้งเป้าที่จะไปดวงจันทร์เช่นกัน โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) วางแผนที่จะกลับไปสำรวจดวงจันทร์ด้วยนักบินอวกาศจากสหรัฐและประเทศอื่น นับตั้งแต่ปี 2568 นอกจากนี้ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย, อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ต่างกำลังดำเนินการในภารกิจดวงจันทร์เช่นกัน

ด้านสำนักข่าวซินหัว สื่อภาครัฐของจีน รายงานว่า มีบุคลากรอย่างน้อย 300,000 คน ที่ทำงานในโครงการอวกาศของประเทศ ซึ่งมากเกือบ 18 เท่า เมื่อเทียบกับบุคลากรของนาซาในปัจจุบัน โดยองค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ด้วยงบประมาณประจำปีเริ่มต้นที่ 2,000 ล้านหยวน (ประมาณ 10,000 ล้านบาท)

South China Morning Post

อย่างไรก็ดี ในปี 2559 จีนเปิดอุตสาหกรรมอวกาศให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ซึ่งในตอนนี้มีการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านหยวนต่อปี (ประมาณ 52,000 ล้านบาท) ตามข้อมูลของสื่อในประเทศจีน

จีนมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคม, การบริหารการจราจรทางอากาศ, การพยากรณ์สภาพอากาศ, การนำทาง และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ไม่เพียงแค่นั้น ดาวเทียมยังมีวัตถุประสงค์ทางทหาร ไม่ว่าเป็นการใช้เพื่อสอดแนมพลังอำนาจของคู่แข่ง และชี้เป้าขีปนาวุธพิสัยไกลได้อีกด้วย

ขณะที่ นางลูซินดา คิง ผู้จัดการโครงการอวกาศ ที่มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า จีนไม่เพียงแค่มุ่งเป้าไปที่ภารกิจอวกาศที่เป็นจุดสนใจเท่านั้น แต่พวกเขามีความครบถ้วนในทุกด้านของเรื่องอวกาศ พวกเขามีแรงจูงใจทางการเมือง และมีทรัพยากรที่ให้ทุนแก่แผนงานต่าง ๆ ที่พวกเขาวางไว้

อย่างไรก็ตาม ศจ.ซาอิด โมสเตชาร์ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายและกฎหมายอวกาศลอนดอน (ไอเอสพีแอล) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า โครงการอวกาศของจีน ขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่จะสร้างความประทับใจไปทั่วโลกมากกว่า และ “มันเป็นการแสดงถึงพลังอำนาจ และเป็นการสาธิตถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES