โยคะ เป็นวิธีออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะหัวใจสำคัญของการฝึกโยคะไม่ใช่แค่การฝึกฝนร่างกาย แต่ยังได้พัฒนาและปรับความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการฝึกโยคะ อันเป็นที่มาของ “วันโยคะสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี แต่จะมีความเป็นมาอย่างไรนั้น ตามมาอ่านต่อกันเลย

ต้นกำเนิดของโยคะ

โยคะ เป็นวิถีแห่งการฝึกฝนตนเองที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว และคนรุ่นเก่าได้จารึกเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับโยคะลงบนหิน ไม้ และวัสดุต่าง ๆ พร้อมกับสอนกันปากต่อปาก เพื่อถ่ายทอดภูมิความรู้นี้ไปสู่คนรุ่นหลัง กระทั่งมีการค้นพบหลักฐานไม้แกะสลักและศิลปะรูปปั้นที่แสดงถึงการฝึกโยคะในหุบเขาอินดัส

ภายหลัง ปตัญชลี นักปราชญ์ชาวฮินดู ได้นำความรู้เหล่านั้นมาปรับปรุงเป็นแนวทางการฝึกโยคะขั้นพื้นฐานเป็นคนแรก โดยเขียนสูตรของการฝึกโยคะเป็น 8 หัวข้อ ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อใช้ฝึกกันเฉพาะกลุ่นคนชนชั้นพราหมณ์ โยคะจึงถือเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวอินเดีย และมีความผูกพันอยู่กับปรัชญาและศาสนาฮินดู ก่อนที่ในเวลาต่อมา ศาสตร์โยคะจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน เพราะคนได้เล็งเห็นแล้วว่า โยคะเป็นศาสตร์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการรวมกายและใจเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในร่างกายของเรา 

วันโยคะสากล พร้อมประวัติความเป็นมา

จุดเริ่มต้นของวันโยคะสากลเกิดจาก นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ต้องการเผยแพร่ศาสตร์โยคะที่มีมานานกว่า 2,000 ปีให้เป็นที่รู้จักและนิยมปฏิบัติไปทั่วโลก เพราะมองว่าโยคะเป็นสิ่งล้ำค่าของชาวอินเดีย การฝึกโยคะเป็นการบำบัดจิตใจและร่างกายโดยธรรมชาติ จึงช่วยให้เกิดความสงบสุขระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้

ด้วยเหตุนี้ นายนเรนทรา โมดี จึงเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ขอให้ตั้งวันโยคะสากลขึ้นมา กระทั่งในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) สมาชิกจำนวน 175 ประเทศ มีมติเห็นชอบจึงได้กำหนดให้วันโยคะสากล ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้คนทั่วโลกเห็นประโยชน์ของการฝึกโยคะ โดยเริ่มปี ค.ศ. 2015 เป็นปีแรก

ส่วนเหตุผลที่เลือกวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันโยคะสากลนั้น เพราะวันที่ 21 มิถุนายนเป็น “วันครีษมายัน” (ครี-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice คือวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน จึงถือเป็นวันดีตามหลักศาสนาฮินดูเนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลมงคล

ประโยชน์ของการฝึกโยคะ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการฝึกโยคะจะช่วยรักษาความสมดุลของร่างกายและจิตใจ จึงมีส่วนช่วยดูแล รักษา ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งพอจะอธิบายถึงประโยชน์ของโยคะอย่างคร่าว ๆ ได้ อาทิ…

  • ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อต่าง ๆ ทำให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้ระยะ หรือมุมการเคลื่อนไหวที่มากกว่าเดิม
  • เพิ่มความมีสติ และมีสมาธิ เพราะการฝึกโยคะจะเป็นการฝึกให้จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การฝึกนับลมหายใจเข้า-ออก ก็จะเป็นการฝึกจิตให้คิดอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว
  • ทำให้หายใจได้ยาวและลึกขึ้นกว่าเดิม ดีต่อสุขภาพปอด ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ฝึกโยคะมีความใจเย็น หากมีอาการโกรธก็จะช่วยระงับความรุนแรงของความโกรธให้ทุเลาลงได้
  • การฝึกกำหนดลมหายใจจะทำให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด บำบัดรักษาโรคจากความเครียดได้ อีกทั้งยังรักษาอาการนอนไม่หลับได้ด้วย
  • ช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย