เดือนหน้า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็ราวๆ วันที่ 18 ก.ค. น่าจะเริ่มเปิดศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนรัฐบาลจะหมดวาระในเดือน มี.ค. 66 ซึ่งรายชื่อผู้ถูกอภิปรายก็ได้เปิดเผยกันไปแล้วคือ 1+10 นายกฯ บวกรัฐมนตรีอีก 10 คน ยิ่งเที่ยวนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นที่จับตามากถึงความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล ว่า “เสียงโหวต พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอย่างไร” พรรคเล็กจะโหวตให้หรือไม่ พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค จะโหวตให้หรือไม่

วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อพูดคุยเรื่องขอตำแหน่งข้าราชการการเมืองให้สมาชิกพรรค และพูดถึงการโหวตทำนองว่า “อย่างไรพรรคเล็กก็พร้อมจะโหวตให้ พล.อ.ประวิตร ส่วนน้องอีก 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยนั้น ต้องรอสัญญาณจาก พล.อ.ประวิตรก่อน” การพูดเช่นนี้กลายเป็นประเด็นให้สนใจทันที ว่า ข่าวลือหนาหูว่า พล.อ.ประวิตร จะทิ้ง 2  ป.ไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย (ร่วมกับเศรษฐกิจไทย) เป็นจริงหรือไม่

ซึ่งถ้าจริง “บิ๊กป้อม” ก็ไม่เห็นต้องออกหน้าอะไร เหมือน นั่งว่าการอยู่หลังม่านสวยๆ มีอิทธิพลต่อพรรคในระดับหนึ่งแบบที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทยก็ได้ ..การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดเรื่องจำนวน ส.ส.พึงมี และคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 นั้นทำให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบเห็นๆ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยเพราะมารหัวใจเรื่องไปกำหนด ส.ส.พึงมีนี่แหละ พอดีว่า พรรคดันไปได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมีแล้ว

บางคนอาจเถียงว่า เขาไม่ถูกกันขนาดนั้นจะจับมือกันทางการเมืองได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่า ในการเมืองมันคือเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ลงตัวหรือไม่ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรหรอก คุยกันเงินถึง เจรจาแบ่งเค้กกันได้ ก็เรียบร้อยหมดล่ะ ไอ้ที่เราเห็นมันฉากหน้า ก็เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่เขาพูดๆ กันไงว่า มันใหญ่มาก แต่จมอยู่ใต้น้ำ เราไม่เห็นตั้ง 90%

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ก็คงจะเห็น โพลบางโพลเชียร์คนในรัฐบาลเรื่องผลงานบ่อยๆ เรื่อยๆ เป็นวิธีสื่อสารตื้นๆ ที่กะว่าจะสร้างการรับรู้ในแง่ดีได้ แต่ปัญหาคือ แย่งซีนผู้ว่าฯ กทม. ป้ายแดง “อ.ทริป-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ตอนนี้อย่างที่บอกคือ มันเป็นช่วงกรุงเทพฯ เป็นสีพาสเทล ช่วงฮันนีมูนผู้ว่าฯ รับตำแหน่งใหม่ และ อ.ทริป ก็ทำงานแบบคนรู้คนเห็นหมดเพราะเขาไลฟ์เฟซบุ๊กตลอดด้วยเหตุผลว่า มันเป็นการบริหารภาษีของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิรับรู้ กรณีนี้ทำให้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และอยากได้นักการเมือง “บ้าพลัง” แบบนี้มาทำงาน เรื่องร้องเรียนอะไรจะได้เร็ว

เดี๋ยวก็คงจะมีโพลเชียร์มาเรื่อยๆ อาทิ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล, การแก้ปัญหาน้ำของรัฐบาล, ความสำเร็จในการควบคุมโควิดของรัฐบาล การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาล ฯลฯ อะไรเทือกๆ นี้แหละ ..ก็ให้ลองสังเกตดีๆ แล้วกันว่า ไอ้ “ผลงานที่โพลเชียร์” เป็น ผลงานของรัฐมนตรีคนไหนที่ติดโผขึ้นเขียงจะถูกอภิปรายด้วย อันนี้ไม่บอก ไม่รู้ จุ้กกรู้ว…เห็นกันเองแหละว่าใครที่ไม่ใช่นายกฯ ที่ชอบเดินสายมอบนโยบาย

เอาจริง ถึงไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล แต่ก็ต้องให้เครดิตบ้างว่า ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เรียกว่า “ระยะจำได้” รัฐบาลมีผลงานที่เอามาขายเป็นที่ประจักษ์ได้ พอจะนึกออกเร็วๆ คือ

1. การควบคุมสถานการณ์โควิด-19 หลายคนอาจมองว่า รัฐบาลแก้ปัญหานี้ล้มเหลว ไทยมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากมาย แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าเราควบคุมได้เร็วและได้รับการยอมรับในการทำงานจากองค์กรนานาชาติด้วย วัคซีนอาจติดๆ ขัดๆ อยู่ช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้วอล์กอินฉีดง่ายมาก

รัฐบาลเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวจนสามารถทำรายได้ได้เกินกว่าที่ประมาณการ ตอนนี้แม้ นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จะยังเข้ามาเที่ยวไม่ได้ แต่มี อินเดีย เข้ามามากและทำให้เงินสะพัดมาก จนกระทั่งมีข่าวว่าแม้แต่ทาง กทม. ก็ได้มอบสำนักพัฒนาสังคม และสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ประสานไปยังสถานทูตอินเดียจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

2.รัฐบาลนี้สามารถสานสายสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียได้สำเร็จ หลังจากถูกลดความสัมพันธ์ทางการทูตลงจากเหตุการณ์ เพชรซาอุ และนำไปสู่การสังหารอุปทูตของเขา  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น เดินทางไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์เองถึงซาอุดีอาระเบีย และถ้าตามข่าวกระทรวงแรงงานจะพบว่า มีสัญญาณที่ดีในการส่งแรงงานไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงมาก แต่ก็ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานรัฐบาลก็เพิ่มค่าตอบแทนให้กับกลุ่มอาชีพ 16 กลุ่ม ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มงานช่างก่อสร้าง ซึ่งทักษะในประเทศก็สามารถเพิ่มค่าแรงได้ และถ้าเป็นกลุ่มมีฝีมือแรงงานเมื่อส่งออกแรงงานก็ยิ่งได้ค่าตอบแทนสูง และที่สำคัญคืองานบริการที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือไปใช้ทักษะฝีมือในต่างประเทศได้ ทั้งงานบริกร งานนวด โดยเฉพาะการนวดไทยนั้นขึ้นชื่อ และน่าจะได้อยู่ในแผนพัฒนาผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพในภูมิภาค

3.การประชุมร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและอาเซียน เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระดับผู้นำ หลังจากที่ในยุครัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัญหาในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเขามากกว่า พอเป็น โจ ไบเดน ก็เหมือนต้องการเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียน เพื่อคานอำนาจจีน ส่วนหนึ่งด้วย และ เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสได้พบปะภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และได้เชิญชวนมาลงทุนใน โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องการผลิตรถพลังไฟฟ้า ซึ่งไทยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค เพื่อประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง

แล้วก็ยังมีผลงานอื่นๆ ที่รัฐบาลเสนอข่าวออกมาเป็นระยะ อย่างเช่น การแจกที่ทำกิน ที่นายกฯ หรือนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เดินสายแจกเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ หรือ การพยายามตรึงราคาสินค้า 

แต่จุดตายเรื่อง การตรึงราคาสินค้าอยู่ที่ราคาน้ำมัน นี่แหละ ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมเอามาใช้เล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ น่าแปลกใจที่ไม่มุ่งตรงไปที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน โดยตรง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจเหมือนกันว่า การกำหนดญัตติอภิปรายรายบุคคล ฝ่ายค้าน “ซ่อน” อะไรไว้บ้าง

โดยเฉพาะการแบ่งแยกมิตรและศัตรู ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่เร็วๆ นี้. 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”