สำหรับปูติน การประชุมนี้แสดงถึงภาพที่น่ายินดี เคียงคู่กับประเทศสมาชิกของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ จีน, อินเดีย, บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า รัสเซียไม่ได้อยู่อย่างลำพัง แม้จะถูกโจมตีด้วยการคว่ำบาตรและการประณามต่าง ๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ มันยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น ถึงการประกาศความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีข้อจำกัด” ระหว่างจีนกับรัสเซีย ขณะที่ผู้นำบริกส์คนอื่นต่างหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซีย และมีความสนใจในระดับที่แตกต่างกัน ในการไม่ถูกมองว่าเห็นด้วยกับการกระทำของรัสเซีย และมีปัญหากับพันธมิตรชาติตะวันตก

อย่างไรก็ตาม จีน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่วาระการประชุมของตัวเอง นั่นคือ การส่งเสริมการพัฒนาและการริเริ่มความมั่นคงระดับโลกแบบใหม่ และผลักกลับสิ่งที่มองว่าเป็น “กลุ่มประเทศตะวันตก”

Al Jazeera English

“บริกส์ควรเสริมสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกันทางการเมือง และความร่วมมือด้านความมั่นคง, ประสานงานเรื่องปัญหาสำคัญทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ, รองรับความสนใจหลักของกันและกัน และต่อต้านความเป็นเจ้าโลกและการเมืองแห่งอำนาจ”” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวต่อที่ประชุมบริกส์

ยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศยังหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การซื้อขายในสกุลเงินของตัวเอง นอกเหนือจากระบบเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศบริกส์มากขึ้นในปัจจุบัน หลังชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การประชุมครั้งนี้จะมีความอึดอัดเกิดขึ้นอย่างมาก แต่เบื้องหลังความอึดอัดนั้น การเลิกใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ คือสิ่งหนึ่งที่บริกส์มีความสนใจร่วมกัน” นายชาฮาร์ ฮาเมรี ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย กล่าว

แม้มีความสนใจร่วมกันในบางอย่าง กลุ่มประเทศบริกส์กลับถูกรุมเร้าจ ากข้อสงสัยในเรื่องความสามัคคีมานาน เนื่องจากระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และความสนใจทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศสมาชิก ที่แตกต่างกันอย่างมาก ตลอดจนความซับซ้อนของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน อาจลดผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ ประเทศสมาชิกอื่น ๆ จะมองการผลักดันให้มีการขยายกลุ่ม เพื่อรวมประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามากขึ้นอย่างไร เพราะการขยายตัวอาจมีผลต่อแนวความคิดในบางส่วน ที่ชาติตะวันตกแสดงถึงสองมาตรฐานในวิธีการส่งเสริมปทัสถานระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มการถกเถียงว่า การพัฒนาโลก ควรกำหนดบรรทัดฐานเหล่านี้แทน ตามคำกล่าวของนายอเล็กซานเดอร์ กูบาเอฟ นักวิชาการอาวุโส จากกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ

“การดึงหลายประเทศให้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น เป็นบางสิ่งที่ให้ความชอบธรรมมากขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ สิ่งนั้นจะเกินกว่าการแสดงสัญลักษณ์หรือไม่ ผมเองก็ไม่แน่ใจ” เขากล่าว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS