โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า และทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย โดยค่อยเป็นค่อยไป และสัตวแพทย์ควรมีบทบาทในการช่วยดำเนินการ

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ได้พระราชทานพระดำริกับ ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวเสด็จไปทรงประชุมเตรียมงานออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ และศูนย์ดูแลสุนัขจรจัด ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์  เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และในคราวเสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดของกองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้าหนึ่งเดียว (Rabies One Data) ระยะที่ 1 กิจกรรมโครงการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (ค่าออกแบบ) กิจกรรมการประชุมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) กิจกรรมผลิตเอกสารเผยแพร่ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เยาวชน ประชาชน และชุมชน กิจกรรมพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดตามสุนัข กิจกรรมการตรวจคัดกรองและเฝ้าติดตามการเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า และจัดทำร่างเกณฑ์มาตรฐานสถานพักพิงสัตว์สำหรับประเทศไทย

ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทรงวางรากฐานของการพัฒนาประเทศในการรณรงค์ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชน และควบคุมการเกิดโรคระบาดร้ายแรงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่อาจเป็นพาหะนำโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตมาสู่คนและสัตว์ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้า น้องนางเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงมีพระดำริก่อตั้งโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของประชาชน และเป็นสัตว์จรจัดไร้ที่พึ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า และควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของสุนัขจรจัดในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการดำเนินโครงการก้าวสู่ในระยะที่ 2 มีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี  ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2568 เป็นการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในการขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน นับแต่ต้นปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ราย ด้วยข้อจำกัดในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การสำรวจข้อมูลประชากรสุนัขและแมวลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ  ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ภายใต้การดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อ.เมือง จ.อุดรธานี โอกาสนี้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข  โดย ทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.พ.ส. สัตวแพทย์ คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชนที่มารับบริการ เพื่อนำข้อมูลไปขยายผลในชุมชนได้ทราบถึงพิษภัยของโรคพิษสุนัขบ้า และวิธีการปฏิบัติป้องกันอย่างถูกวิธี

วันที่ 18 เมษายน 2565  ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารศูนย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ครั้งที่ 2/2565      ทรงติดตามและรับฟังการถวายรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565  ภายใต้กรอบการดำเนินโครงการฯ  8 ประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย  1) การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 2) การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ 3) การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน 4) การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น 5) การประชาสัมพันธ์ 6) การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า 7) ด้านการติดตาม และประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8) การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2565) ตรวจพบสัตว์ให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสะสม จำนวน 69 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสุนัข 66 ตัว แมว 1 ตัว และโค 2 ตัว ส่วนใหญ่พบโรคในสุนัขที่ไม่ทราบประวัติการมีเจ้าของอยู่ที่ 95.7% ของสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมดในพื้นที่ 12 จังหวัด โดยจังหวัดชลบุรี พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด และในปี 2565 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 1 ราย

โอกาสนี้ มีพระดำรัสในที่ประชุมฯ เกี่ยวกับผลการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จากการเสด็จไปทรงงานออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ด้วยพระองค์เอง ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ดังความตอนหนึ่งว่า

” ที่เราได้ทำไปนี้ได้ออกหน่วยแบบเต็มรูปแบบที่ จ.อุดรธานี 2 ครั้ง ได้ฉีดยากันพิษสุนัขบ้าและได้ทำหัตถการในสุนัขบางตัวที่ต้องทำหัตถการ ครั้งแรกเรามีสุนัขมารับบริการ 1,441 ตัว ในครั้งที่ 2 มีสุนัขมารับบริการประมาณ 900 ตัว รวมทั้งหมดที่อุดรธานี เราได้ช่วยชาวบ้านและสุนัขของเขา และช่วยสุนัขจรจัด ภายใน 1 เดือนเราทำไปกว่า 2,000 ตัว”

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันถวายพระพรให้ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน