“ประเทศไทย-คนไทย” ก็คง “ต้องเดินหน้าต่อไปบนบันได 4 ขั้นในการอยู่ร่วมกับโควิดในสถานะโรคประจำถิ่น”… โดย 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นวันเริ่มบันไดขั้นที่ 4 หรือระยะที่ 4 ตามแผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach หลัง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนนี้ และดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มี.ค.แล้ว

สำหรับ แผนรองรับการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด ในปีนี้ ข้อมูลโดยสังเขปที่มีการเปิดเผยไว้ ก็จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ… ระยะที่ 1 (วันที่ 12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) ที่มีชื่อเรียกว่า Combatting ซึ่งเป็น ระยะต่อสู้เพื่อลดการระบาด และลดความรุนแรงลง, ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau ที่เป็นการ คงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ, ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining เป็นการ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และ ระยะที่ 4 หรือ Post pandemic เป็นการ ออกจากโรคระบาดเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดย “ระยะที่ 4” นี้…

“ดีเดย์เริ่มต้น” ก็คือ “1 ก.ค. 2565” ที่ผ่านมา…

ทั้งนี้ แม้คนไทยโดยรวมจะดีใจที่จะได้ใช้ชีวิตกึ่งปกติมากขึ้น หลังจากต้องดำเนินชีวิตภายใต้ “พิษโควิด+มาตรการคุมโควิด” มานานกว่า 2 ปี แต่อย่างไรก็ตาม กับ “ไทยยุคโควิดประจำถิ่น” นั้น…ก็ยังคง “มีความท้าทายหลายด้านที่คนไทยอาจยังต้องเผชิญอยู่” เช่นกัน โดยเฉพาะกับ “ระบบสุขภาพ” ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มี “มุมวิชาการ” ที่วิเคราะห์และสะท้อนไว้…

โดยวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลนี้…

ฉายภาพ “ความท้าทายต่าง ๆ ของระบบสุขภาพ”

ที่ไทยอาจจะต้องเผชิญ…“ภายใต้ยุคโควิดประจำถิ่น”

เกี่ยวกับเรื่อง “ความท้าทายภายใต้ยุคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” นี้…ได้มีการนำเสนอไว้ผ่านบทความใน วารสาร  Policy Brief ปีที่ 10 ฉบับที่ 128 เดือน มิ.ย. 2565 ที่จัดทำโดย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งได้นำเสนอ ผลศึกษาจากโครงการวิจัยเพื่อจัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขยุคใหม่ ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 (Post Covid Health System) ภายใต้การสนับสนุนของ สบวส. สํานักวิชาการสาธารณสุข สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ในบทความดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์และสะท้อนผลการศึกษาที่พบไว้ว่า… ตลอดเวลากว่า 2 ปี โควิด-19 ได้ทําให้ปัจจัยแวดล้อมด้านต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ด้านหนึ่งส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและทักษะใหม่ ๆ ในระบบสุขภาพ แต่อีกด้านก็ทำให้ “เกิดความท้าทายใหม่ ๆ” ตามมาด้วย โดยจากการศึกษานั้น ได้ค้นพบ “6 ความท้าทาย” จนเกิดเป็น “ข้อเสนอแนะ 6 ข้อ” เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ…

“ประชากรต้องการบริการสุขภาพมากขึ้น” ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ต้องมีการเพิ่มหรือต้องมีทักษะใหม่ ๆ ที่คณะวิจัยได้เสนอแนะแนวทางรับมือโดยเสนอให้มีการ ปรับปรุงทักษะบุคลากรใหม่ ให้เหมาะสมกับระบบสุขภาพยุคใหม่

“โลกร้อนจะกลายเป็นเงื่อนไข” มิใช่แค่เรื่องการค้าระหว่างประเทศ นี่ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ประชาชนจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลือกรับบริการสุขภาพด้วย โดยการรับมือกับความท้าทายในเรื่องนี้ทางคณะวิจัยเสนอแนะไว้ว่าควรมีการ ปรับปรุงระบบบริการให้ทันกับปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนไป อันมีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น” โดยในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 นั้น มีข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับโรค (Infodemic) ออกมามากมาย ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ได้ส่งผลทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขมีภาระเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความเข้าใจผิดจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน โดยแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทางคณะผู้วิจัยเสนอว่าควรต้อง เพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานในระบบสุขภาพให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

“หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้น” ประเด็นนี้ แนวทางแก้ไขคือต้อง ปรับปรุงวิธีจัดสรรทรัพยากรในระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้เหมาะสมกับภาระที่เพิ่มขึ้นของระบบสุขภาพในระดับท้องถิ่น

“ประชากรคนจนจะมีจํานวนที่เพิ่มขึ้น” สำหรับประเด็นนี้ จะส่งผลให้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในส่วนของแนวทางแก้ปัญหาและรับมือความท้าทายในเรื่องนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้เสนอแนะไว้ว่าควร เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการด้านสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชากรคนจน …ที่มิใช่กลุ่มเล็ก ๆ

และอีกประเด็นคือ “ตลาดสุขภาพยุคใหม่จะมีนวัตกรรมด้านสุขภาพมากขึ้น” จนทำให้ระบบประกันสุขภาพที่ใช้อยู่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด แม้นวัตกรรมที่ดีจะช่วยลดภาระของบุคลากรด้านสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสุขภาพก็ตาม โดยคณะผู้วิจัยเห็นว่าควร เร่งพัฒนากลไกในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ได้กลไกที่ดีเพียงพอที่จะนำมาใช้เลือกนวัตกรรมสุขภาพที่ดีและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย …ต่าง ๆ เหล่านี้คือ “ความท้าทายใหม่ ๆ ยุคที่โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น และการรับมือ” ที่มีผลการศึกษาวิจัย และมีข้อเสนอแนะไว้…

“6 ความท้าทาย” ใน “ยุคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น”

คนไทยต้องลุ้น…“ไทยจะรับมือได้ดีแค่ไหน???” .