ประเทศประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นส่วนหนึ่งของ “หลายสิบประเทศ” ที่ไม่ส่งรายงานเป้าหมายใหม่ ในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนขึ้น ต่อหน่วยงานดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของยูเอ็น ภายในกำหนดเส้นตาย วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากที่สุดในโลก ส่วนอินเดียอยู่อันดับ 3 โดยสหรัฐ ซึ่งส่งรายงานให้ยูเอ็น ก่อนเส้นตายในเดือน เม.ย. อยู่อันดับ 2

 แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหาร อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ยูเอ็นเอฟซีซีซี (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) แสดงความชื่นชมที่ประเทศภาคีสมาชิกจำนวนมาก ส่งรายงานเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ ทันขีดเส้นตาย ซึ่งถูกขยายมาจากสิ้นปี 2563 จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่ยัง “ห่างไกลจากความน่าพอใจ” เพราะบรรดาประเทศที่ส่งรายงานทันเวลา มีเพียงแค่ 58% ของทั้งหมด

Wall Street Journal

ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ ซีเรีย และอีก 82 ประเทศ คือกลุ่มประเทศที่ไม่ส่งรายงานเป้าหมาย ที่เรียกว่า เอ็นดีซี (nationally determined contributions : NDCs) ให้ ยูเอ็นเอฟซีซีซี ตามกำหนด เพื่อที่จะได้เตรียมทำเอกสารยื่นเสนอต่อที่ประชุมโลกร้อนครั้งที่ 26 ของยูเอ็น  2021 United Nations Climate Change Conference (COP26)  ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.–12 พ.ย. ที่จะถึง ที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ ทางเหนือของสหราชอาณาจักร

เอสปิโนซา อดีตนักการทูตชาวเม็กซิโก กล่าวว่า การตรวจรายงานของประเทศต่าง ๆ ชุดก่อนหน้านี้ พบว่า แทบไม่มีประเทศใดทำได้ตามเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม

ดังนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะบรรลุเป้าหมายที่สูงกว่า นั่นคือควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เอสปิโนซา กล่าวว่า ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนสุดขีด ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ และภาคใต้ของทวีปยุโรปเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งความแห้งแล้งและน้ำท่วมใหญ่ ในหลายภูมิภาคของโลก ถือเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ทั่วโลกต้องดำเนินการอีกมาก และโดยรีบเร่ง เพื่อเปลี่ยนแนวโน้มไปสู่หายนะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

BloombergQuint

เป้าหมายลดโลกร้อนของยูเอ็น ประเทศต่าง ๆ ต้องเสนอแผนที่ยากลำบากกว่าที่เคยยื่นก่อนหน้านี้

ภายใต้ “ความตกลงปารีส 2015” ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่น จะกำหนดเป้าหมาย ลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยยูเอ็นกำหนดให้มีความโปร่งใส และร่วมกันยกระดับเป้าหมายตามระยะเวลาที่ผ่านไป เพื่อรับประกันว่า อุณหภูมิของโลกจะอยู่ในระดับที่แต่ละประเทศได้ตกลงกันไว้

ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนประกาศเป้าหมาย ให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศ ขึ้นสู่จุดสูงสุดไม่เกินปี 2573 ก่อนจะกลายเป็นประเทศปลอดคาร์บอน การปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ ก่อนปี 2603 แต่เป้าหมายนี้คณะทำงานของจีน ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ เพื่อยื่นเสนอต่อยูเอ็น

ช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นายอล็ค ชาร์มา ชาวอังกฤษ ในฐานะประธานการประชุม ค็อป26 ที่กลาสโกว์ ได้พบหารือกับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากกว่า 50 ประเทศ รวมถึง สหรัฐและจีน เผยต่อสื่อมวลชนหลังการหารือว่า ทุกประเทศตกลงเห็นพ้องเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องบรรลุภายในกรอบเวลาที่กำหนด.

เลนซ์ซูม    

เครดิตภาพ : REUTERS