ซึ่งถึงวันนี้เคลียร์คัตชัดเจนขึ้นแล้วหรือไม่?-อย่างไร? ก็ดังที่ทราบ ๆ กัน… อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมกับการมีสถานการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เป็น “ภาวะวิกฤติ” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดู “เรื่องที่สำคัญ” เรื่องหนึ่ง…

เรื่องที่ว่านี้คือ “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ”

ที่ “มีผลที่ผกผันโดยตรงกับเรื่องเฟคนิวส์”

กับกรณีฝีดาษลิงก็หวังว่าไม่ซ้ำรอยโควิด?

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่องของหลักวิธี “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ” นั้น เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะในแวดวงธุรกิจหรือการตลาดเท่านั้น แต่กับสังคมในภาพรวมก็จำเป็นจะต้อง “มีหลัก-มีวิธี” ที่จะสื่อสารเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่ “เฟคนิวส์แพร่ระบาดหนัก” พอ ๆ กับการระบาดของเชื้อไวรัสเรื่องนี้ก็ “ยิ่งสำคัญ” โดยเฉพาะกับผู้ที่มีส่วนในการดูแลสถานการณ์…

สำหรับ “หลักการที่ดีของการสื่อสารในภาวะวิกฤติ” นั้น เรื่องนี้ทาง ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล นักวิชาการสาขาการตลาด คณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ดี ต้องมีความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ และรวมถึง ต้องสื่อสารให้ชัดเจน นอกจากนี้ทาง ศ.วิทวัส ก็ได้แจกแจงถึง “หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติ” อีกว่า… สำหรับคำว่า “ภาวะวิกฤติ” กรณีนี้คือ “เหตุการณ์ที่เกิดแบบไม่คาดฝัน ทันทีทันใด อยู่เหนือการควบคุม จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน”

ทางนักวิชาการท่านเดิมยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่ประเทศไทยเผชิญ…ซึ่งเรื่องโรคภัยน่ากลัวนั้นมีทั้งปัญหา โควิด-19 แล้วตอนนี้ก็ยังมีวิกฤติการระบาดของ ฝีดาษลิง ที่ก็ทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกตื่นตระหนกกันไม่น้อย เพราะก็เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ที่อาจจะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในวงกว้างได้ จึงถือเป็นอีกเรื่องที่ ประชาชนต้องการรู้ข้อมูลมาก ซึ่งถ้าหากการตอบสนองด้านข้อมูลไม่เท่าทัน…ก็ไม่แปลกที่จะทำให้ผู้คนหันไปหาข้อมูลในโลกออนไลน์…

ที่มีบางส่วนที่เป็น “ข้อมูลปลอม-ไม่ถูกต้อง”

และเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลปลอม เกี่ยวกับ “การระบาดของเฟคนิวส์” ที่ยุคนี้ “มาแรงพอ ๆ กับเชื้อไวรัสระบาด” นั้น ทาง ศ.วิทวัส ก็ได้เคยวิเคราะห์และสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่ช่วงที่ “เฟคนิวส์ระบาดแข่งกับเชื้อโควิด” โดยระบุว่า…ต้องยอมรับว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นหลายครั้งยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร?? จึงทำให้ประชาชน ซึ่งกำลังหวาดกลัว หรือกำลังเกิดภาวะอกสั่นขวัญแขวน “ขาดข้อมูลที่มากพอ” ทำให้ “หลงเชื่อข่าวปลอม-ข่าวหลอก-ข่าวลวง” หรือ “เฟคนิวส์” ฉะนั้นเรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้??เนื่องจาก ถ้าสามารถสื่อสารในภาวะวิกฤติได้ดีพอ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้คนเกิดความเข้าใจผิด หรือได้รับข้อมูลผิด ๆ ที่มีแพร่ออกมา

ทั้งนี้ เกี่ยวกับหลักสื่อสารที่ดีในภาวะวิกฤติกับเรื่องนี้นักวิชาการท่านเดิมระบุว่า… หลักกว้าง ๆ คือ…นอกจากต้องสื่อสารได้รวดเร็วเพื่อตอบสนองเหตุการณ์แล้ว ก็ ควรรวบรวมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะรวมข้อมูลและความรู้ที่มีทั้งหมดไว้ด้วยกันให้มากที่สุด รวมไปถึง ควรอัพเดทข้อมูลและความรู้ใหม่ ๆ ให้ทันกับข้อมูลข่าวสารที่ไหลไปรวดเร็วมากในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อ ทำให้การสื่อสารที่ออกสู่สังคมมีความถูกต้อง-ชัดเจน อย่างรวดเร็วที่สุด และ ที่สำคัญ…เมื่อต้องสื่อสารข้อมูลออกสู่สังคมในวงกว้าง ข้อมูลในการสื่อสารออกไปควรที่จะต้องผิดพลาดน้อยที่สุด ด้วย

นอกจากหลักการสำคัญ ๆ ข้างต้นแล้ว ศ.วิทวัส ยังระบุว่า… ในหลักวิชาการตลาดก็ยังให้ความสำคัญกับการ ตั้งผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่นอกจาก ต้องมีความสามารถตัดสินใจได้ทันที แล้ว อีกหลักการคือ ต้องเป็นผู้ที่สื่อสารได้ดี ซึ่งที่ผ่าน ๆ มานั้น มีหลาย ๆ วิกฤติที่เกิดขึ้น ที่เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้ จนทำให้ข้อมูลที่สื่อสารออกไปไม่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากเป็นในทางธุรกิจแล้วก็จะ ส่งผลเสียอย่างมาก!! ต่อแบรนด์หรือต่อผลิตภัณฑ์

ขณะที่อีกหลักการหนึ่งที่ก็สำคัญคือ…นอกจากข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ข้อมูลที่ออกมาต้องไม่ไร้ทิศทาง นั่นก็เพราะ…ถ้า ข้อมูลไม่กระจ่างมากพอ หรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม กรณีนี้จะยิ่งกระตุ้นและทำให้เฟคนิวส์ระบาด!! เพราะผู้คนจะรู้สึกไม่เชื่อมั่นข้อมูลที่ออกมา จะพยายามไปค้นหากันเอาเองในสื่อออนไลน์ ในอินเทอร์เน็ต…

นักวิชาการท่านเดิมยังสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ด้วยว่า… การสื่อสารที่ดีในภาวะวิกฤติเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในวิกฤตินั้น ๆ และ ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของข่าวลือ-ข่าวปลอม ได้ด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าสื่อสารได้ไม่ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนก็จะยิ่งหลงเชื่อข่าวปลอม ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และถ้าควบคุมไม่อยู่ก็จะเกิดเป็นความโกลาหล ในที่สุด …นี่เป็น “มุมสะท้อนทางวิชาการ” ซึ่งตอน “โควิด” แรง ๆ แรก ๆ คนไทยก็เคยเผชิญ “วิกฤติการสื่อสาร” และย่อมจะไม่อยากเผชิญอีกกับกรณี “ฝีดาษลิง”

ภาวะวิกฤติ” ที่ไหน ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

“การสื่อสารที่ดี” นี่จะ “เป็นตัวช่วยสำคัญ”

ตัวช่วยนี้ “ในไทยมีประสิทธิภาพแล้ว??” .