ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกลุ่มนี้ กว่า 10 ล้านคน โดยในส่วนที่ฐานะขัดสนนั้น เงินช่วยเหลือเพิ่มนี้ก็คงจะช่วยให้หายใจหายคอได้เพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่ “นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง” ก็คือ “ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยไร้ลูกหลาน-ไร้คนดูแล” ไม่มีคนคอยช่วยเหลือ…

ปัจจุบัน “โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป”

ไทย “มีครัวเรือนที่ไร้บุตรหลานเพิ่มขึ้น”

และ “ส่งผลกระทบกับไทยในหลายมิติ”

เกี่ยวกับกรณีปัญหาในเรื่องนี้ ที่สังคมไทยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันคิดหาทางออกตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น ได้มีการสะท้อนไว้โดยนักวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทางบทความ “อนาคตประชากรไทย : ในวันที่การตายมากกว่าการเกิด” ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ” กับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีแนวทางรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ กรณีนี้อาจจะ “ส่งผลกระทบเชิงลบวงกว้าง” กับสังคมไทยในหลาย ๆ มิติ…

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลที่สังคมไทยน่าพิจารณา ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในวันนี้ ได้มีการอธิบายถึงกรณี “ครัวเรือนที่ไร้บุตรหลาน” เอาไว้ว่า… ประกอบไปด้วย ครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร” หรือ “DINK (Double Income No Kids)” กับ “ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร” หรือ “SINK (Single Income No Kids)” ซึ่งจากผลสำรวจภาวะด้านการทำงานของประชากรไทยโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็พบว่า ประเทศไทยมี “กลุ่มผู้สูงอายุ” หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีลักษณะครอบครัวแบบ DINK และ SINK รวมมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน!! …ถือเป็นตัวเลขน่าตกใจกรณี “ครัวเรือนไร้บุตรหลาน” ในไทย ที่ มีแนวโน้มเกิดครอบครัวลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ…

สำหรับ “ปัจจัย” ที่ทำให้ “เกิดครัวเรือนไร้บุตรหลาน” ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นชี้ไว้ว่า… มาจาก สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมีสาเหตุมาจากการที่มีสัดส่วนการมีงานทำของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้น, จากการที่ผู้หญิงไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงขึ้นกว่าในอดีต, จากแนวโน้มการครองตัวเป็นโสด และแนวโน้มการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนมีผลต่ออัตราการเกิดของประชากรของไทย

“ทั้งหมดเป็นผลจากค่านิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบัน ที่จะให้ความสำคัญกับความพร้อมทางเศรษฐกิจก่อนที่จะมีครอบครัวหรือมีบุตร นอกจากนั้น การที่คนเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น เพราะไม่อยากมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดครัวเรือนไร้บุตรหลานเพิ่มขึ้น” …นี่ก็เป็นการฉายภาพ…

ปัจจัยที่ทำให้เกิด “DINK” และ “SINK”

อีก “ผลพวงของสังคมผู้สูงอายุของไทย”

แล้วการที่ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน” จะมีผลกระทบอย่างไร? …สำหรับประเด็นนี้ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวก็ได้มีการระบุไว้ว่า… จากงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลาน งานวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอีกกลุ่มคือ งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ที่รวมถึง ประเทศไทย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า… ผลกระทบหลักของครัวเรือนไร้บุตรหลาน มีอยู่ 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ “ทางด้านการเงิน” และ “ทางด้านสุขภาวะทางจิต”

และมีการขยายความไว้ว่า… ผลกระทบทางด้านการเงิน ที่มีต่อผู้สูงอายุที่เป็น DINK และ SINK จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากผู้สูงอายุคนดังกล่าวเก็บเงินออมได้ไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาทางสุขภาพที่จำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัวมากกว่าที่ได้วางแผนเตรียมไว้ ขณะที่ ผลกระทบทางด้านสุขภาวะทางจิต นั้น ผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานดูแลมักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และรู้สึกไม่มีคุณค่า รวมถึงมักจะขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้ ผู้สูงอายุที่ไร้ลูกหลานเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า …ทั้งนี้ ถ้าหากมีกลุ่มผู้สูงอายุตกอยู่ในสภาวะนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีนี้ก็ย่อมจะ “กระทบกับโครงสร้างสังคมในมิติต่าง ๆ”

อนึ่ง ในช่วงท้ายในบทความโดยนักวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการระบุไว้ว่า… ถ้าหากอัตรา “ครอบครัวที่ไร้บุตรหลาน” มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะน่ากลัวและมีความรุนแรงมากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากขึ้นกว่านี้ ในระดับบุคคลนั้น มีการแนะนำให้ วางแผนดูแลตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งด้านการเงินและด้านสุขภาพ ขณะที่ในระดับภาครัฐ แนวทางรองรับที่เตรียมไว้ในกรณีผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญ

“รองรับสังคมผู้สูงวัย”…แน่นอน “สำคัญ”

“ยิ่งสำคัญ” คือ “รองรับกลุ่ม DINK-SINK”

“ระเบิดเวลาอีกลูกที่ต้องสกัดการบึ้ม!!”.