นายไซมอน โคฟี รมว.การต่างประเทศของตูวาลู บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจคือเรื่องที่น่าเป็นห่วง และมันเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อหมู่เกาะแปซิฟิกที่ได้รับอันตรายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

“มันสำคัญที่แปซิฟิกต้องจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างระมัดระวัง สิ่งสุดท้ายที่พวกเราต้องการ คือการที่หลายประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกถูกใช้ต่อกันและกัน หรือถูกใช้เป็นตัวหมาก”

โคฟีดึงความสนใจทั่วโลกจากการประชุมสภาพภูมิอากาศระดับโลกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น เขายืนโดยเอาเท้าแช่น้ำทะเลเพื่อสื่อให้เห็นว่าตูวาลู “กำลังจม” และมีการคาดการณ์ว่าประเทศขนาดเล็กแห่งนี้ จะจมทะเลภายในช่วงปลายศตวรรษนี้

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของตูวาลู คือ การประมง ซึ่งจีนกำลังแสวงหาข้อตกลงที่มากขึ้นกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกสำหรับกองเรือของจีน ส่วนรัฐบาลวอชิงตันเตรียมแผนจัดการการประมงผิดกฎหมายในภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับอำนาจของสหรัฐ เพื่อตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

Reuters

โคฟี กล่าวต่อไปว่า ตูวาลู คือหนึ่งในแหล่งประมงซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นแหล่งสุดท้ายที่มีปลาทูน่าที่แข็งแรง ปลาทูน่ายังเป็นตัวช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม “นักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาในภูมิภาค ต้องรับฟังและดูว่าแปซิฟิกเป็นอย่างไรในตอนนี้ และใช้สิ่งนั้นเป็นบทเรียนสำหรับความร่วมมือในปัญหาต่าง ๆ นอกเหนือจากการประมง”

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ตัวเองได้มีปากเสียงมากขึ้น บนเวทีการหารือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตูวาลูเคยเสนอให้ นายอิอาโคบา เตเนีย อิตาเลลี อดีตผู้สำเร็จราชการ เป็นเลขาธิการของเครือจักรภพแห่งประชาชาติ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกเสาะหาบทบาท จากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศเช่นนี้

“มันถึงเวลาแล้วสำหรับแปซิฟิก ที่จะมีโอกาสชักนำและรวมเครือจักรภพ” อิตาเลลี บอกกับรอยเตอร์สในการสัมภาษณ์เดียวกัน ซึ่งเครือจักรภพ “ไม่สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกันได้” การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ซีโอพี) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นที่สกอตแลนด์ เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว แม้เป็นการรวมตัวของ 32 ประเทศ จาก 42 ประเทศขนาดเล็กที่สุดในโลก ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ตาม

อย่างไรก็ดี อิตาเลลี กล่าวว่า ที่การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกครั้งถัดไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ในเดือน พ.ย.นี้ ตูวาลูจะเดินหน้าผลักดัน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกขึ้น สำหรับประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กต่อไป เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เพื่อ “เอาตัวรอด” .

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS