ซึ่งกับ “แนวทางป้องกันการข่มขืน” นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีกระแสว่าทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กำลังเตรียมที่จะนำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อ “ยกระดับการแก้ปัญหา” ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งเมื่อจัดทำแผนเสร็จสิ้นจะเสนอ ครม.ต่อไป …นี่ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของความพยายามที่จะแก้ปัญหา “ภัยข่มขืน”…

“แก้ข่มขืนเป็นวาระแห่งชาติ” จะยังไง??

“จะลดปัญหานี้ได้หรือไม่??” ก็น่าคิด…

ทั้งนี้ กับ “เสียงสะท้อน” เกี่ยวกับการเตรียม “ยกระดับปัญหากรณีข่มขืนเป็นวาระแห่งชาติ” นั้น เรื่องนี้ทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ให้ทรรศนะกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… กรณีที่กำลังมีการเตรียมชง แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบเป็นอีก “วาระแห่งชาติ” นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยมองปัญหานี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาข่มขืน ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่

สำหรับ “ข้อดี” จากการที่ “ปัญหาข่มขืน” กำลังจะถูกยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติ” ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังระบุย้ำอีกว่า… นี่ย่อมจะเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากพอถูกให้นิยามเป็นวาระแห่งชาติ นั่นก็เท่ากับว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามอย่างแข็งขัน จะต้องแก้ไขปัญหาข่มขืนให้ได้ ไม่เช่นนั้น “วาระแห่งชาติ” ก็จะไม่ใช่ “คำสำคัญ” ในสายตาคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม จะเด็จ บอกว่า… เมื่อมาพิจารณาถึงรายละเอียด หรือลงลึกในร่างแผนดังกล่าว ส่วนตัวมองว่า… “โจทย์ใหญ่” ของปัญหาคุกคามทางเพศ หรือกรณีข่มขืน คือเรื่องของ “อำนาจนิยมที่เหนือกว่า” ที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องของ “ทัศนคติชายเหนือกว่าหญิง” เท่านั้น โดยที่ผ่านมาสังคมก็ได้เห็นข่าวจำนวนมากว่า ผู้ที่ลงมือล่วงละเมิดทางเพศนั้นก็มีส่วนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ข้าราชการระดับต่าง ๆ นักการเมือง ซึ่งประเด็นนี้ส่วนตัวมองว่า เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้กลไกการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศไม่สามารถที่จะลงลึกไปถึงรากของปัญหา ได้…

เพราะ “เกี่ยวโยงโครงสร้างเชิงอำนาจ”

อนึ่ง กับปัญหา “ข่มขืน” ที่โยงใยไปถึงเรื่อง “โครงสร้างเชิงอำนาจ” นี้ ทาง จะเด็จ ระบุว่า… ที่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ เพราะก็เป็นรากของปัญหา ถ้าหากไม่พูดประเด็นนี้ ก็จะกลายเป็นว่า สิ่งที่จะต้องแก้ไขอาจแก้ได้ไม่สุด เพราะไม่ได้ลงลึกไปที่รากปัญหาใหญ่ ของเรื่องนี้ และเมื่อเรื่องการข่มขืนถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว นอกจากทุกฝ่ายจะต้องแก้โจทย์ใหญ่เรื่องของอำนาจที่เหนือกว่าแล้ว แผนที่ออกมาจะต้องครอบคลุมไปถึงเรื่องของระบบโครงสร้างรัฐ โดยไม่มองเป็นปัญหาแค่ระดับของคนทั่วไปหรือคนในครอบครัว …เป็นสิ่งที่ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เน้นย้ำไว้ และว่า…

นอกจาก “ต้องลงลึกถึงโครงสร้างเชิงอำนาจ” แล้ว ขณะเดียวกันก็ “ต้องทำให้เกิดระบบที่บูรณาการร่วมกันได้อย่างแท้จริง” เพื่อให้การแก้ปัญหาข่มขืนขับเคลื่อนจากทุก ๆ ภาคส่วน เพื่อให้แนวทางแก้ปัญหาเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะ ลำพังกระทรวง พม. ทำทั้งหมดไม่ได้ ส่วนควรจะทำเช่นไรบ้างนั้น?… แหล่งข่าวคนเดิมเสนอตัวอย่างว่า… เช่น หาวิธีการว่าทำอย่างไรให้ทางตำรวจรับแจ้งความมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาอุปสรรคหนึ่งของเหยื่อข่มขืนคือเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยรับแจ้งความเพราะมองเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้เหยื่อไม่ค่อยได้รับการสนใจดูแล

“ถ้าจะให้ดี หากกรณีข่มขืนเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ก็คงที่จะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจังและเร่งด่วน นอกจากนั้น อีกระบบที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ กลไกการช่วยเหลือเหยื่อ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ควรที่จะต้องมีหน่วยงานที่สามารถจะบูรณาการกลไกช่วยเหลือด้วย” …ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

ทั้งนี้ จะเด็จ เน้นย้ำด้วยว่า… อีกสิ่งที่ก็ “ต้องปฏิรูปเร่งด่วน” เพราะทำให้เกิดปัญหา คือ “กฎหมายที่ล้าหลัง” ที่ก็ต้องปฏิรูปอย่างคำว่า “ข่มขืน” ที่ถูกแก้ไขในช่วงที่มี สนช. โดยนิยามคำว่าข่มขืนค่อนข้างล้าหลัง ซึ่งการข่มขืนนั้นไม่ใช่แค่กรณีสอดใส่อวัยวะเพศเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงคืออะไรก็ตามที่สอดใส่เข้าไปในร่างกายเหยื่อ อาทิ ใช้นิ้วรุกล้ำเข้าไปในร่างกายเหยื่อ ก็จะต้องถือเป็นการข่มขืน ไม่ใช่มองเป็นแค่การอนาจาร และอีกเรื่องคือ จะทำยังไงให้สื่อพูดถึงประเด็นผู้หญิงแบบสร้างสรรค์มากขึ้น? เช่น ฉากข่มขืนในละคร ไม่ควรมีแล้ว เพราะเป็นการตอกย้ำปัญหา จะทำให้ปัญหายิ่งแย่ลง 

เป็นวาระแห่งชาติแล้วดีหรือไม่? ถ้าเป็นแล้วแก้ไขปัญหาได้ ย่อมดีแน่นอน แต่ถ้าเป็นแค่อีเวนต์ แค่เป็นข่าว จากนั้นก็เงียบหายไป เช่นนี้ไม่ดีแน่ ดังนั้นเมื่อปัญหาข่มขืนจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ ก็ต้องทำให้คำ ๆ นี้มีความศักดิ์สิทธิ์และมีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัญหานี้” …ทาง จะเด็จ ระบุทิ้งท้าย

วาระแห่งชาติ นี่ ต้องเป็นคำที่มีพลัง”

ใช้ แก้ปัญหาข่มขืน” ก็ ต้องเข้มขลัง”

ก็…หวังว่าจะเป็นเช่นนี้ได้จริง??” .