ตอนนี้ก็ถือว่า ใกล้ช่วงเวลาที่จะเลือกตั้งแล้ว ซึ่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตั้งใจอยู่ครบวาระ แต่พี่ใหญ่ 3 ป. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) บอกว่า อาจยุบสภาหลังรัฐบาลจัดเอเปคเสร็จ… ก็ไม่รู้จะเอาไงไปคุยกันเอง พอดีบิ๊กตู่เขาโดนบี้ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นนายกฯ ครบ 8 ปี อาจหาวิธีลงแบบไม่ให้เสียหน้าโดยประกาศยุบสภาก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีมติก็ได้ แล้วจากนั้นหากจะกลับมาก็ค่อยกลับไปเล่นแร่แปรธาตุกฎหมายเอา องค์กรอิสระตั้งโดย คสช.คิดว่า จะตีความอย่างไรไปคิดเอง

พอใกล้เลือกตั้ง แต่ละพรรคก็เริ่มเดินสายหาเสียง เปิดตัวผู้สมัคร มีฉกชิงวิ่งราวกัน หรือย้ายพรรคกันให้สนุกกันไปหมด เลือกตั้งสมัยหน้า พรรคที่ถูกจับตามากที่สุดคือเพื่อไทย เพราะคราวนี้ทิ้งไพ่ดวงใจทักษิณ เอา “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรมานำครอบครัวเพื่อไทย แต่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ตอนนี้ยังแทงกั๊ก ข้างฝ่ายพ่อเองก็ต้องระวังหลังให้ลูกสาว ต้องมั่นใจ ไม่ใช่ย่ามใจส่งลงแล้วเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองให้ต้องลี้ภัยอีกคน

การเมืองในสมัยหน้าจะมีกี่ขั้ว ? ว่ากันแบบสามัญๆ คือ ก็ขั้วรัฐบาลกับขั้วไม่ใช่รัฐบาล ถ้าว่ากันตามสถานการณ์ในประเทศคือ ขั้วเอาบิ๊กตู่กับไม่เอาบิ๊กตู่ เพราะเที่ยวนี้หลายพรรคชูเรื่องมุ่งล้างมรดก คสช. บางพรรคชูเรื่องลุงตู่อยู่ต่อ แต่ทั้งนี้ พรรคการเมืองเกิดใหม่ ดูจะแบ่งหมวดได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1.พรรคที่ไม่เอาบิ๊กตู่ เอาที่เป็นข่าวบ่อยๆ ได้แก่

  • พรรคไทยสร้างไทย ( ทสท.)  ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรค ก็มีสายที่สนิทกับคุณหญิงตามออกไป เช่น น.ต.ศิธา ทิวารี , น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ , นายการุณ โหสกุล ซึ่งพรรคก็พยายามชูนโยบายบำนาญประชาชน เพราะเข้าใจว่า ต่อไปไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีการส่งเสริมบทบาทสตรีมากขึ้น แต่ดูบุคลิกของพรรคยังไม่แข็งแรงพอ ยังไม่เป็นที่จดจำมากนัก และพวกที่ย้ายตามคุณหญิงหน่อยจากเพื่อไทย ก็ทยอยกลับไปบ้าง เช่น  นายพงศกร อรรณพพร แต่ก็ยังมีอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นมาร่วม เช่น นางนาตยา เบ็ญจศิริวรรณ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์
อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ผู้คนกำลังยืน
  • พรรคสร้างอนาคตไทย ( สอท.)  มีนายอุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญากับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เด็กเก่าค่ายไทยรักไทยแล้วว่า “ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่เอา คสช.” พรรคนี้ชูนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนายกฯ ดูภาพคล้ายๆ จะพยายามขายเศรษฐกิจมหภาค ขณะเดียวกัน สอท.ก็ถูกมองว่าเป็นพรรครวมของคนที่ถูกบิ๊กป้อมหักหลัง ดึงอำนาจกลับมาบริหาร พปชร. เองมารวมกัน  เช่นนายอุตตม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ , นายสันติ กีระนันทน์, นายวิเชียร ชวลิต และน่าจะมีลาออกจาก พปชร.มาเพิ่ม ตอนใกล้หมดอายุสภา  คนพรรคประชาธิปัตย์ที่มาร่วมพรรค คือนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีปัญหากับพรรคเรื่องการเลือกผู้สมัคร ส.ส.พัทลุงเขต 2 กับผู้ใหญ่พรรคบางคน  นายนิพิฏฐ์จะมาเป็นแม่ทัพภาคใต้  
รูปภาพ เปิดตัว! พรรคสร้างอนาคตไทย ยันไม่เสนอ 'บิ๊กตู่' เป็นนายกฯ
  • พรรคเศรษฐกิจไทย ( ศท.) มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ดูเหมือนเป็นศัตรูคู่แค้นของบิ๊กตู่  พาพวกออกมาตั้งพรรคใหม่ ประกาศอยู่ฝ่ายค้านเพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลไม่ดี  ศท.ประเดิมเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปางเขต 4 แต่ภาษานางงามเขาเรียก “ตุ๊บมง” คือแพ้เลือกตั้ง ซึ่งบางที นอกจากเรื่องภาพลักษณ์รัฐบาล ความไม่ชัดเจนว่า ศท.อยู่ขั้วไหน  อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัสเองก็ยังไม่ค่อยดีนัก จากเรื่องคดีความในอดีต เรื่องที่บอกว่าเป็นคนเลี้ยงลิงแจกกล้วย ซึ่งขณะนี้ หัวหน้าพรรค ศท.กำลังล้างภาพลักษณ์ให้เป็นคนประเภท “ใจถึง พึ่งได้” ดูแลปัญหาคนตัวเล็กตัวน้อย และน่าจะหวัง ส.ส.เขต และกลายเป็นว่า อดีตคนประชาธิปัตย์ก็มีมาซบ ศท.อีก คือนายไพร พัฒโน อดีต ส.ส.สงขลา

2.พรรคที่เอาบิ๊กตู่ ค่อนข้างชัด คือ

  • พรรครวมไทยสร้างชาติ ( รสทช.) เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.กทม.( ดินแดง ) พรรคประชาธิปัตย์ที่ตอนหลังมาทำงานกับบิ๊กตู่เป็นหัวหน้าพรรค และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ก็ลาออกมารร่วมด้วย  นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช , นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. เขตสวนหลวง และก็ยังไม่รู้ว่าจะมีการดูดอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์มาเพิ่มหรือไม่ เบื้องต้นรอดูบ้านใหญ่ธรรมเพชร ว่า จะให้ น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ลงสมัคร ส.ส.พัทลุงเขต 1 ในนามพรรค รสทช.หรือไม่ ซึ่งพรรคนี้สายสลิ่มเชียร์อยู่ อาจมีพวก กปปส.เก่ามาอยู่  

นอกจากมาจากประชาธิปัตย์ พรรครวมพลัง หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย ( รปช.) ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปั้นมา ก็อาจถูกดูด ส.ส.ไปรวมด้วย สมาชิกพรรคที่ไปร่วมกับ รสทช.แล้วคือ “ดราฟ นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง” ที่ปรึกษา รมว.อุดมศึกษาฯ ก็ไปแล้ว แต่ ส.ส.พรรคลุงกำนันคนอื่นๆ ยังกั๊กท่าที ซึ่งพรรค รสทช.นี้จุดขาย บุคลิกยังไม่ชัดเจนนัก ยังไม่เปิดนโยบายอะไรว้าวๆ โดนใจ  

  • พรรคไทยภักดี ที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหน้า เป็นพรรคที่มีจุดขายชัดเจนเรื่องเทิดทูนสถาบัน แต่เรื่องนโยบายด้านอื่นยังไม่เด่น ตัวเด่นที่อยู่ในพรรคนอกจาก นพ.วรงค์ก็คือ “บิ๊กหยม พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” อดีต ผบช.น.ยังไม่รู้ว่าจะดึงคนจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมด้วยหรือไม่
  • พรรครวมแผ่นดิน ของบิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งวันเปิดตัวพรรค ได้ข่าวว่า ทหารเก่าสังเกตการณ์เพียบ และก็มีทหารเก่าเป็นกรรมการบริหารพรรค พรรคนี้ยังไม่มีจุดเด่นเป็นตัวขายชัดนัก แต่ พล.อ.วิชญ์ ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรคเทิดไท เพิ่งเปิดตัวไปแบบไม่หวือหวานักเมื่อสองสามวันก่อน โดยมีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ และ ประกาศจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์  โดยดึงแกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงเก่าบางส่วนมาร่วม ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงจำนวนมากตอนนี้เฮโลตามแกนนำใหญ่ไปพรรคเพื่อไทยกันแล้ว  

3.พรรคที่ยังไม่แสดงจุดยืนการเมืองชัดเจน

จะพร้อมร่วมรัฐบาลก็ได้ถ้าพรรคลำดับหนึ่งจัดเทียบเชิญ ให้ได้ ส.ส.ถึง376 เสียง จะได้ตอนอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาก็ไปฝ่ายค้าน พรรคลักษณะนี้คือ

  • พรรคกล้า มีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่แตกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และก็มีคนประชาธิปัตย์ตามมา เช่นนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. เขตจตุจักร , นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองหัวหน้าพรรค ซึ่งรอดูว่า จะมีคนจากพรรคประชาธิปัตย์มาอีกหรือไม่  รอดู อาจมีคนประชาธิปัตย์มาอีก
  • พรรคเพื่อประชาชน ( พป.) ที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ที่ย้ายไป พปชร. และสอบตก กลับมาตั้งพรรค ซึ่งก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมาก 
  • พรรคเสมอภาค มีนางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ ( ลดาวัลลิ์ วงศรีวงศ์ ) อดีต ส.ส.พะเยา และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อทไทย เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ยังไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนนัก เคยประเดิมส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งซ่อมราชบุรีครั้งหนึ่ง  คาดว่าพรรคน่าจะต้องการเก็บฐานเสียงเหนือ

แต่ละพรรคที่เกิดใหม่ “จุดขายไม่ชัด” พยายามชูเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบเทียบกับโมเดลพรรคอนาคตใหม่ถือว่า ยังสู้ไม่ได้ พรรคอนาคตใหม่เล่นการเมืองปี 62 ได้ ส.ส.มากพอจนเป็นพรรคขนาดกลาง  บางเขตล้มบ้านใหญได้ เช่นที่เชียงราย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ล้มบ้านใหญ่ได้, ที่พิษณุโลก ล้มบ้านใหญ่ได้, ที่ชลบุรี กวินนาถ ตาคีย์ ล้มบ้านใหญ่คุณปลื้มได้ที่บางละมุง  และปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะกว่า ส.ส.เขต พรรคอนาคตใหม่ทำบุคลิกที่ชัดเจนคือ   

  1. การจะเข้ามาเพื่อล้างมรดก คสช. 
  2. การแสดงความเปิดกว้างหลากหลาย เช่นมี ส.ส.กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม lgbtiq+ กลุ่มที่จะเข้ามาดูแลงานเฉพาะ เช่น น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ทำเรื่องแรงงาน นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เรื่องสุราก้าวหน้า น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เรื่องการศึกษา
  3. การสร้างภาพแกนนำพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ ป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลง มีการสร้าง gimmick ให้แกนนำพรรคหลัก 3 คนติดตลาด คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือนักสู้ พลังเปี่ยมล้น เป็นผู้นำเพื่อความเปลี่ยนแปลง , นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะเข้ามาปฏิรูปกฎหมาย , น.ส.พรรณิการ์ วานิช คือภาพลักษณ์หญิงแกร่ง เหล่านี้ดึงความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้มาก โดยเฉพาะการสร้างภาพฝันเกี่ยวกับประเทศไทยต้องดีกว่านี้ได้โดยหลุดพ้นจากวังวนวิธีคิดเก่าๆ

พอมาดูพรรคเกิดใหม่ข้างต้น.. หลายพรรคเหมือนหวังกินบุญเก่าจากนักการเมืองเก่า, บ้านใหญ่ บุคลิกก็ไม่ชัด ไม่ชูบทบาทคนรุ่นใหม่อย่างโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง กลายเป็นเข้ามาก็กลืนกับพรรค ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งน่าสงสาร รู้สึกเหมือนแต่ละพรรคเกิดใหม่ดึงคนจากประชาธิปัตย์ไปร่วมเยอะ จนกระทั่งทำให้น่าเชื่อว่าข่าวที่ผู้บริหารพรรคชุดนี้ไม่ค่อยเอาใคร จนอดีต ส.ส., คนทำงานให้พรรคไม่พอใจ น่าจะจริง

ก็เป็นสีสันเบื้องต้น ต่อไปจะมีการแข่งขันกันต่อไป ที่น่าสนใจคือนโยบายและการสร้างบุคลิกของผู้สมัคร

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”