ซึ่งยุคนี้ไทยมี “แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” ที่เชื่อมโยงกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนจังหวัด และแผนชุมชน ที่มีแนวทางดำเนินการโดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเรื่องบริหารจัดการน้ำนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนน่าจะได้ติดตามการดำเนินการ…

วันนี้ “ไทยบริหารจัดการน้ำถึงไหน?”

พื้นที่ที่เคยมีปัญหา “มีอัพเดทเช่นไร?”

ทั้งนี้ “อัพเดทการบริหารจัดการน้ำ” ในไทย ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับปฏิบัติการ “ฝนหลวง” การอนุรักษ์ฟื้นฟู “ป่าต้นน้ำ” การพัฒนา “แหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค-ทำเกษตร” การป้องกัน “น้ำท่วม” รวมถึงการจัดการ “น้ำเสีย” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มี “รายละเอียด” มานำเสนอ จากข้อมูลกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ที่เป็นข้อมูลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่ง ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานฯ แจกแจงไว้ว่า… ในส่วนการปฏิบัติการ ฝนหลวง ในช่วงปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีการเติมน้ำให้แหล่งน้ำได้ 314 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บทน้ำฯ ช่วงตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ในส่วนการอนุรักษ์ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ทำได้ 156,070 ไร่, เพิ่มประสิทธิภาพ ประปาหมู่บ้าน ได้ 4,973 แห่ง, พัฒนา แหล่งน้ำผิวดิน โดยมีการเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้าน ลบ.ม., พัฒนา น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. 

สำหรับกรณีน้ำท่วม-อุทกภัย การดำเนินการก่อสร้าง ระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน ส่วนระบบรวบรวมและบำบัด น้ำเสียชุมชน มีการดำเนินการ 14 แห่ง

และเรื่องการ “บริหารจัดการน้ำ” นี่จากข้อมูลโดยส่วนงานที่เกี่ยวข้องยังมีการระบุอีกว่า… กนช. มีการเห็นชอบ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญ แล้ว 43 โครงการ เริ่มดำเนินการแล้ว 25 โครงการ ซึ่งในส่วนนี้เมื่อแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้รวม 1,571 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.57 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 267,128 ครัวเรือน โดยโครงการในส่วนนี้ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ, โครงการประตูระบายน้ำ น้ำพุงน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร, โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน, โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง, โครงการขยายเขต กปภ.บ้านฉาง รองรับ EEC, แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในปี 2567 มีเป้าหมายดำเนินการ “บริหารจัดการน้ำ” อีก 69 โครงการ อาทิ อ่างฯ แม่ตาช้าง จ.เชียงราย, โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ (ระยะที่ 1) จ.กาญจนบุรี, ระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างฯ ประแสร์ เส้นที่ 2 จ.ระยอง, โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ดำเนินการพื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่, แก้มลิงบึงละหาน จ.ชัยภูมิ เป็นต้น ซึ่งกับโครงการที่เป้าหมายดำเนินการคือภายในปี 2567 นี้เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้รวม 7,560 ล้าน ลบ.ม.

“แหล่งน้ำขนาดเล็ก” นี่ “ก็นับว่าสำคัญ”

ก็ต้อง บริหารจัดการ” และ มีอัพเดท”

กับ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก นั้นการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถช่วย “บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและภัยน้ำท่วม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการในส่วนนี้มีข้อมูลระบุว่า… ช่วงปี 2563-2564 ทั่วประเทศมีการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค น้ำทำการเกษตร โดยโครงการได้ ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 26,902 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำฝนใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้งได้ 738.3 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 7.5 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3.4 ล้านครัวเรือน ขณะเดียวกันยังเกิดการจ้างแรงงานราว 184,000 รายด้วย ซึ่งโครงการในส่วนนี้แบ่งเป็นภาคเหนือ 6,120 แห่ง, ภาคกลาง 4,694 แห่ง, ภาคตะวันออก 1,469 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,978 แห่ง, ภาคใต้ 2,641 แห่ง

“ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ได้มีการเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณากรอกคำขอรับงบประมาณในระบบ Thai Water Plan (TWP) โดยที่ โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำต้องไม่ซ้ำซ้อน ต้องเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันด้วย…” …และนี่ก็เป็นอีกส่วน เป็นอีกกรณีจากข้อมูลโดยส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการ “บริหารจัดการน้ำ” ที่ก็ “น่าติดตามการดำเนินการ”

ทั้งนี้และทั้งนั้น การ “บริหารจัดการน้ำ” นั้น นอกจากประชาชนทุกภาคส่วนน่าจะได้ติดตามการดำเนินการแล้ว…กับ “การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน” นี่ก็ถือว่า “สำคัญ!!” เนื่องเพราะโครงการที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงก็ต้องมีที่มาจากข้อมูลของประชาชน-สภาพการณ์จริงในพื้นที่นั้น ๆ นี่จึงเป็น “คีย์ซัคเซสที่สำคัญ” ของเรื่องนี้…

“มีช่องทางมีส่วนร่วมประชาชนก็ร่วม”

“ประชาชนมีส่วนร่วมทางรัฐก็รับฟัง”

เช่นนี้…ซัคเซสจัดการน้ำจึงเกิดได้” .