ทั้งนี้ ทางกรมการค้าภายในได้ติดตามดูสินค้า 200 กว่ารายการ และสินค้าควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ เนื่องจากรัฐขอให้ตรึงราคาขายเพื่อช่วยด้านภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยจากการติดตามพบว่า…ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางส่วนได้ใช้กลยุทธ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับสูตรผลิตภัณฑ์เดิมเล็กน้อย และรวมถึงมีการ “ลดปริมาณ-ลดขนาด…โดยขายราคาเดิม”

ทางภาครัฐนั้นก็ฮึ่มฮั่มกับกรณีนี้…

กรณี “ราคาเดิม…ที่ไม่เหมือนเดิม”

ผู้ประกอบการทำแบบนี้ “ผิด?-ไม่ผิด?”

ทั้งนี้ กับการที่ผู้ประกอบการ “ไม่ขึ้นราคาขายสินค้า” แต่ใช้กลยุทธ์ “ลดปริมาณ-ลดขนาด” ซึ่งหลาย ๆ คนมองอย่างมี “ปุจฉา” นั้น กับการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ได้ระบุไว้ว่า… ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการนำกลยุทธ์รูปแบบนี้มาใช้ ในต่างประเทศก็มีเช่นกัน ในบางประเทศก็มีผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า ที่นำกลยุทธ์รูปแบบนี้มาใช้ อย่างใน ประเทศญี่ปุ่น นั้นก็มีการใช้กลยุทธ์นี้ โดยที่มีชื่อเรียกกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ว่า… “Shrinkflation” ซึ่งเป็นการ “ลดปริมาณบรรจุ” หรือ “ลดขนาดให้เล็กลง” เพื่อที่จะ “ยังคงราคาขายเท่าเดิมได้”

เรื่องนี้ “ในประเทศเศรษฐกิจจ๋าก็ใช้”…

นี่เป็นหนึ่งใน “เทคนิคในยุคเงินเฟ้อพุ่ง”

ถามว่า… กลยุทธ์หรือเทคนิค “ลดขนาด-ลดปริมาณ…แต่ขายราคาเดิม” แบบนี้ “ถูก?…หรือผิด?” นี่ถือว่า… “เป็นเรื่องปกติ?… หรือผิดปกติ?” กับเรื่องนี้ทาง ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำสาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนกับทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… กรณีที่พบว่ามีผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าบางส่วนใช้วิธี “ลดขนาด-ลดปริมาณสินค้า” แต่ “ราคาขายเท่าเดิม” นั้น ในภาวะเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบันนี้ เรื่องแบบนี้ “ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ” ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้ประกอบการนำเอาเทคนิคดังกล่าวนี้มาใช้ ก็เพื่อรับมือ…

“ต้นทุนที่สูงขึ้น-กำลังซื้อที่ลดลง”…

จากการที่ “ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง”

ทางนักวิชาการสาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุต่อไปว่า… สาเหตุที่มีผู้ประกอบการนำเทคนิคดังกล่าวนี้มาใช้ เนื่องจาก… เมื่อกำลังซื้อลดลง ประกอบกับภาคการผลิตเองนั้นก็ต้องเจอกับต้นทุนที่สูงขึ้น-วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น เมื่อทั้ง 2 ด้านสวนทางกันเช่นนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าบางส่วนเลือกที่จะ “ปรับลดขนาดสินค้าลง” หรือ “ปรับลดปริมาณบรรจุสินค้าลง” เพื่อพยายามที่จะ “คงราคาขายเท่าเดิม” เอาไว้ “แทนการปรับขึ้นราคาสินค้า” ซึ่งสำหรับเรื่องการปรับราคาขึ้นนั้น บางกลุ่มสินค้าก็ไม่สามารถจะทำได้ด้วย…

เพราะ “ถูกทางภาครัฐขอให้ตรึงราคา”

ก็เลย “เลี่ยงมาใช้วิธีนี้เพื่อพยุงธุรกิจ”

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการสาขาการตลาดท่านเดิมสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… “การนำเทคนิคนี้มาใช้ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด!!” แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า…ถ้านำมาใช้ไม่เหมาะสม ไม่ตรงกับสภาวะอารมณ์ของคนในสังคม กรณีนี้ก็อาจจะก่อให้เกิด “ทัศนคติเชิงลบ” จนไป “กระทบต่อแบรนด์สินค้า-ผู้ผลิต” ได้ ดังนั้น การจะนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ เรื่องของ “จังหวะเวลา” และ “ความสมเหตุสมผล” ในการปรับลดขนาดหรือปริมาณสินค้า เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

“การลดปริมาณลง ผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยน แปลงมากนัก หรือต่อให้รู้ว่าปริมาณลดลง แต่ ตราบใดที่ไม่ต้องควักเงินจ่ายเพิ่ม ก็มักจะรู้สึกโอเคกว่าการขึ้นราคา ซึ่งเทคนิคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หวนกลับมาได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงนี้…” …ทาง ศ.วิทวัส ระบุ และพร้อมกันนี้ก็สะท้อนประเด็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจมาด้วยว่า…

“สินค้าหลายชนิดไม่เคยใช้เทคนิคนี้…

แต่ช่วงนี้ก็หันมาใช้วิธีนี้ตามไปด้วย!!”

และย้ำ “ปุจฉา” ผิดไหม?? กับ “วิสัชนา” นั้น ศ.วิทวัสบอกว่า… ส่วนตัวแล้วเห็นว่า “ก็เป็นเรื่องเทคนิคของผู้ประกอบการ” เพียงแต่หากไม่ได้บอกความจริงกับผู้ซื้อ เมื่อมีผู้ร้องเรียนก็อาจทำให้ชื่อเสียงเสียหายหรือกระทบภาพลักษณ์ได้ หรืออาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฉลาก หากไม่มีการระบุเพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจน …ขณะที่ในฝั่ง “ผู้บริโภค” นั้น ทาง ศ.วิทวัส ก็แนะนำมาว่า… การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในช่วงนี้ก็จำเป็นต้อง “ตรวจสอบสังเกต” เกี่ยวกับ “ข้อมูลบนฉลากสินค้า” ให้มากขึ้น เพื่อการ “ตัดสินใจ” ว่าสินค้าที่จะจ่ายซื้อ “คุ้มกับเงินที่ต้องจ่าย” หรือไม่??

ยุค เงินเฟ้อพุ่งสูงเศรษฐกิจฝืดเคือง”

“สินค้าราคาเดิม ๆ” ก็ ตรองกันดี ๆ”

ราคาเดิมในรูปแบบนี้ คุ้ม?-ไม่คุ้ม?” .