ซึ่งเฉพาะเดือน พ.ค. 2565 ไทยมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน …นี่เป็นข้อมูลที่เปิดเผยไว้โดยกรมศุลกากร ซึ่ง “ตัวเลขจัดเก็บภาษี” สินค้านำเข้ากลุ่มนี้…สะท้อนทั้งสถานการณ์-ปรากฏการณ์…

“สะท้อนสถานการณ์ไทย” ในช่วงนี้…

และ “สะท้อนปรากฏการณ์ในคนไทย”

ทั้งนี้ ตามรายงานข่าว หลังมีการเปิดเผยข้อมูล “ตัวเลขการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้า” ดังกล่าว ทางผู้บริหารของกรมศุลกากรก็ยังได้มีการวิเคราะห์ถึง “ปัจจัยสำคัญ” ที่อาจจะทำให้ “มูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของไทยขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น” โดยมีการระบุไว้ว่า… อาจจะมีผลมาจาก “สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว” ทำให้มีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงอาจจะเกิดจากการที่ “ไทยเปิดประเทศ” จึงทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เร่งสั่งนำเข้าสินค้าประเภทกระเป๋า สินค้าแบรนด์เนม เข้ามาสต๊อกเพื่อจะจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย…

นี่อาจเป็นปัจจัย-เป็น “ตัวกระตุ้นสำคัญ”

ดัน “มูลค่านำเข้าสินค้าแบรนด์เนมพุ่ง”

อย่างไรก็ตาม นอกจากกรณี “ตัวกระตุ้น” ทำให้ “มูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น” ตามการวิเคราะห์โดยทางกรมศุลกากรแล้ว… กับเรื่องดังกล่าวนี้ สำหรับในกลุ่มคนไทยเอง นี่ยังอาจจะยึดโยง “มุมจิตวิทยา” กรณีพฤติกรรมการนิยมใช้เงิน “ซื้อสินค้า” ในกลุ่ม“ของมันต้องมี” ซึ่งในมุมนี้-กับกรณี “ซื้อเพราะของมันต้องมี” นี้ ทางนักจิตวิทยา คือ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้เคยสะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… นี่ก็นับเป็นอีกปัญหา “น่าเป็นห่วง” สำหรับสังคมไทย?? โดยคนไทยในปัจจุบันนี้…

มี “ทัศนคติ-ค่านิยมผิด ๆ” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดย “แข่งโชว์!!” กันในเรื่อง “วัตถุสิ่งของ”

“พฤติกรรมการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย” นี้ นอกจากมุมวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจแล้ว กับกรณีคนที่ “ไม่มีความพร้อม” นั้น… “มุมวิเคราะห์ด้านจิตวิทยา” ก็มีประเด็นน่าสนใจ ซึ่งสำหรับมุมจิตวิทยา…จากการวิเคราะห์โดย ดร.วัลลภ ทางนักจิตวิทยาท่านนี้ได้อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมรูปแบบนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยระบุไว้ว่า…พฤติกรรมของบางคนที่มักจะสิ้นเปลืองเงินไปกับการใช้จ่ายซื้อสินค้ากลุ่ม “ของมันต้องมี” กำลังเป็นอีก “ปัญหาสังคม” ที่ “ยึดโยงวิกฤติเศรษฐกิจ”

ทาง ดร.วัลลภ ได้ระบุย้ำถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… นี่ก็ถือว่าเป็นอีกปัญหาที่ “น่าเป็นห่วง” สำหรับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ค่านิยมผิด ๆ-ทัศนคติผิด ๆ” เกี่ยวกับการ “แข่งขัน-โชว์” กันในเรื่อง “วัตถุสิ่งของ” แทนที่จะ “แข่งกัน-อวดกัน” เกี่ยวกับ “ความสามารถด้านปัญญา” ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวนี้ นี่ก็เป็นอีกเครื่องสะท้อนว่า… “สังคมไทย” ยังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจาก “กับดักวัตถุนิยม” ได้ …นี่เป็นทรรศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย-ซื้อ“ของมันต้องมี” ที่เกิดขึ้น

และทางนักจิตวิทยาท่านเดิมก็ยังระบุไว้อีกว่า… กรณี “ของมันต้องมี” ที่เป็นวลีทางการตลาดที่มีการหยิบยกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อสินค้า และเป็นอีกคำฮิตในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่มานานระยะหนึ่งแล้ว กรณีนี้ก็นับว่าสะท้อนภาพสังคมไทยที่เป็น “สังคมอุปโภค-บริโภค” ได้อย่างชัดเจน ซึ่งการที่คนรุ่นใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งมักจะมีนิสัยใช้เงินเก่ง ก็เพราะ “ตกอยู่ในวังวนวัฒนธรรมทุนนิยม” จนทำให้บางคนนั้นเกิดความเชื่อ-เกิดความคิดที่ว่า… “จะต้องได้!!-จะต้องมี!!” ให้เหมือนเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ โดยที่อาจไม่รู้คุณค่าของสิ่งนั้นเลย หรือเพียงแค่ต้องการจะมี…เพื่อจะนำไปอวดโชว์กัน…

ทั้งที่สิ่งของนั้นอาจ “ไม่จำเป็นต่อชีวิต”

เช่นนี้คือ “ติดกับดักวัตถุนิยม” ใช่มั้ย??

ทั้งนี้ ทางนักจิตวิทยาชื่อดังยังได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า… พฤติกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่ายุคนี้ผู้คนส่วนหนึ่งได้ถูกโปรแกรมให้เกิดความรู้สึก “ต้องมี!!-ต้องได้!!” โดยเฉพาะ “สิ่งของที่อยู่ในเทรนด์” หรือที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่า…เป็นคนในกระแส-เป็นคนทันสมัย จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ต้องทำตาม ๆ กัน ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้หากทำจนกลายเป็นความเคยชิน ก็น่าเป็นห่วงว่า…อาจจะทำให้คน ๆ นั้น “เสพติดการซื้อโดยไม่รู้ตัว!!” จนอาจทำให้ เกิดผลกระทบทั้งต่อชีวิตตนเอง-ต่อคนรอบข้าง และกับระดับสังคม ระดับประเทศ กรณีนี้ก็อาจก่อให้ เกิดปัญหาสังคม-ปัญหาต่าง ๆ ตามมา??

“คนที่มีเงินก็คงกระทบน้อย แต่… กับคนที่ไม่มีเงินนี่สิ…จะเป็นปัญหา เพราะเมื่อไม่มีเงิน ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้เงินมา เพื่อนำไปซื้อของมันต้องมี ซึ่ง… อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน หรือเข้าสู่วังวนการทำผิดกฎหมาย เช่น ลักขโมย ค้ายาเสพติด หรือถึงขั้นยอมขายตัวแลกเงิน” …เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ ดร.วัลลภ ได้เคยสะท้อนไว้

“ของมันต้องมี” ใครพร้อมที่จะมีก็ว่าไป

แต่ “ไม่พร้อมจะมี” ก็ “ต้องยับยั้งชั่งใจ”

“ติดกับดักเสพติดการซื้อ” นี่ “ยุ่งแน่!!”.