กลายเป็นว่าช่วงนี้วิกฤติอุณหภูมิการเมืองไทย กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ยิ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาพรรคใหญ่ ๆ ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างลงพื้นที่ต่างจังหวัด บรรยากาศชักจะดูเหมือน โหมโรงเลือกตั้งใหญ่ เพราะมีทั้ง หัวหน้าพรรค บรรดา บิ๊กเนม ของแต่ละพรรค รวมถึง ส.ส.ในจังหวัด ต่างตบเท้าลงพื้นที่กันคึกคักผิดปกติ

คอการเมืองหลายคนเริ่มเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ จะเกี่ยวข้องกับบทสรุป “วาระ 8 ปี” เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยหรือไม่? น่าจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกเรื่องของการเมืองไทย

หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองไทย เชิงผา ต้องขออนุญาตย้อนเวลาถอยหลังไป 8 ปีที่แล้ว ช่วยย้ำเตือนความทรงจำกันอีกรอบ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากอดีต ผบ.ทบ. ตัดสินใจสวมหมวก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำกองทัพ ลากรถถัง-อาวุธยุทโธปกรณ์ ออกมายึดอำนาจทำ รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

เมื่อ 'คสช.' ใช้สื่อเป็นอาวุธยึดอำนาจ - ปิดสื่อ เซ็นเซอร์ข่าว โฆษณาชวนเชื่อ  โปรโมททหาร

สัปดาห์แรกภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจใหม่ ๆ หลายพื้นที่ นอกจากจะมีทหารดูแลพื้นที่สำคัญหลายจุดในกรุงเทพมหานครแล้ว บางพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมการสัญจรไปมาของประชาชนอย่างเช่น ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ยังมีทหารไปแจกจ่าย “ใบปลิว” ระบุเหตุผลที่ คสช. ยึดอำนาจ ดังนี้

  1. มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงระดับครอบครัวคนไทย
  2. การใช้อำนาจการปกครองแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการกระทำผิด
  3. แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดปัญหาวุ่นวายไม่รู้จบ
  4. การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี
  5. ปัญหาทุจริต
  6. การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง มีการยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง
  7. การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และความทุกข์ของประชาชน
  8. ความผิดต่อสถาบัน
  9. การปลุกระดมมวลชนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
  10. มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ

คณะรัฐประหาร ให้คำมั่นว่า จะกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง ลดความตึงเครียดทางการเมือง เปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจไทย แก้ไขปัญหาระบบการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานของไทย และการจัดสรรงบประมาณของรัฐอย่างเสมอภาคตามภูมิภาคต่าง ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ เป็น หัวหน้า คสช. ได้เพียง 2 เดือนเศษ ๆ ในการ ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 21 ส.ค. 2557 ลงมติ เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถัดมา วันที่ 24 ส.ค. 2557 ได้มีโปรดเกล้าฯ ลงมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จากนั้น วันที่ 25 ส.ค. 2557 จึงมี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ออกมา

5 ปี คสช. : พล.อ. ประยุทธ์ อ้างผลงาน ฟื้นฟูเกียรติคุณ-ความสงบให้แก่ประเทศ -  BBC News ไทย

ชีวิต พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งกว่าขึ้นหลังเสือ จาก ผบ.ทบ. มาเป็น หัวหน้าคณะรัฐประหาร ก่อนก้าวขึ้นสู่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 พร้อมกับความหวังของประชาชนในขณะนั้นว่า จะเป็น อัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาปฏิรูปประเทศชาติ แก้ปัญหาต่าง ๆ ให้เข้ารูปเข้ารอย

แต่เมื่อได้บริหารประเทศอย่างเต็มที่แล้ว ก็เริ่มมีคำถามมาตลอด “คำมั่น” อะไรที่เคยให้ไว้ทำสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็กำลังกลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ ให้สารพัดม็อบดีเดย์ลงถนนร่วมกันขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อีกระลอก 

ใครจะไปเชื่อ 8 ปีผ่านไป จากผู้นำจะเข้ามาแก้ปัญหา ตอนนี้กลายเป็นตัวปัญหา ถูกประชาชนขับไล่เสียเอง!!

——————–
เชิงผา