โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) เริ่มกันที่สะพานแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,630 ล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ในส่วนของไทยแบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย วงเงิน 831 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน วงเงิน 883 ล้านบาท ส่วน สัญญาที่ 3 ตัวสะพาน งบประมาณรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็นฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และ ฝั่งลาว วงเงิน 476 ล้านบาท กู้เงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

สัญญาที่ 1 และ 2 ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติเรื่องวงเงินก่อสร้าง คาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลเร็วๆนี้ ส่วนสัญญา 3 ตัวสะพานอยู่ในขั้นตอนประกวดราคา เมื่อลงนามสัญญากับผู้รับเหมาได้ทั้ง 3 สัญญาจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 63 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จปี 66 เพื่อเปิดบริการต่อไป จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่งสินค้ารวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ

รายละเอียดโครงการมีระยะทาง 16.18 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย 13 กม. และถนนฝั่งลาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 และตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร ข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจรและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาวสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ของสปป.ลาว กม.ที่ 136+677 ที่บ้านกล้วยเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ

รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องไปกลับ ด้านละ 1 ช่อง กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

ส่วน สะพานแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ทล.ได้สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและ สปป.ลาวเพื่อสรุปแนวทางดำเนินโครงการร่วมกันให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้การประชุมหารือล่าช้าบ้าง คาดว่าภายในปี63 จะได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณาหากได้รับความเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติโครงการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะของบฯก่อสร้างปี 65 ก่อสร้างได้อย่างเร็วปลายปี 65หรืออย่างช้าต้นปี 66 แล้วเสร็จปี 68

เบื้องต้นใช้วงเงินดำเนินโครงการ 4,270 ล้านบาท ความยาวสะพานรวม 1,607 เมตร ตัวสะพานยาว1,020 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวฝั่งไทย 517 เมตร ฝั่งลาว 70 เมตร ข้ามแม่น้ำโขงเป็นสะพานแบบโค้ง(Arch Bridge) ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ขนาดช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.00 เมตรแบ่งทิศทางจราจรด้วยแถบกลางกว้าง 1.20 เมตร พร้อมทางเท้า 1.25 เมตร เชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 2112 อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี กับทางหลวงหมายเลข 13 เมืองละครเพ็ง สปป.ลาว มีถนนฝั่งไทย 4.325 กม. ถนนฝั่งลาว 17.509 กม. ขนาด 4 ช่องไปกลับด้านละ 2 ช่อง อาคารด่านควบคุมชายแดน Border ControlFacilitates (BCF) ในไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งจุดเปลี่ยนทิศทางการจราจรอยู่ในฝั่งไทย

สะพานแห่งที่ 6 จาก จ.อุบลราชธานีเชื่อมแขวงสาละวัน จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปเมืองละครเพ็งสปป.ลาว ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้นจากปัจจุบันขนส่งทางเรือผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เท่านั้น รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้าพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าระหว่าง2ประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนขนส่งตลอดจนเพิ่มโครงข่ายการขนส่งไปท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม และประเทศจีนด้วย ขณะเดียวกันการเดินทางระหว่างจ.อุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน จะประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

มิตรภาพของ 2 ประเทศเพื่อนบ้านจะงดงามตลอดไป อนาคตสะพานข้ามแม่น้ำโขงไม่หยุดที่เลข 6 แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ 2 ฝั่งพี่น้องไทย-ลาว
……………………………
คอลัมน์ : มุมคนเมือง
โดย “เทียนหยด”