หญิงตั้งครรภ์ก็เป็นกลุ่มที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ แม้ในยามที่สังคมอยู่ในภาวะปกติ เพราะฉะนั้นในยุคที่มีการระบาดของโควิด-19 “หญิงตั้งครรภ์” จึงถูกยกระดับให้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลพิเศษ ทั้งในแง่ของการที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคเป็นอันดับต้น ๆ และต้องได้รับการปกป้องทางสังคม

เหตุผลเรื่องนี้ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ รพ.พิจิตร อธิบายว่า หญิงที่ตั้งครรภ์ ระบบหลอดเลือด ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบการทำงานของปอด ระบบการหายใจ ระบบฮอร์โมน ระบบภูมิต้านทานมีการเปลี่ยนแปลง การที่คนท้องมีทารกอยู่ในครรภ์อีก 1 คนนั้น เมื่อไหร่ที่ปอดบวม การแลกเปลี่ยนออกซิเจนจะแย่ลงมีผลกระทบกับทั้งแม่และลูก

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคของการรักษา เพราะ 1 ในวิธีการรักษาที่ได้ผลดีคือการให้ผู้ติดเชื้อนอนควํ่า แต่หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือนขึ้นไปนอนควํ่าไม่ได้ ทำให้การรักษา หรือการแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ดีเท่าคนทั่วไป

ดังนั้นคนท้องจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ต้องเข้า ICU และเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป ส่วนลูกที่รอดชีวิตมาก็ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า และร่างกายไม่แข็งแรง เนื่องจากเป็นการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูลสรุปล่าสุดสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.) พบหญิงตั้งครรภ์มีการติดเชื้อเกือบ 2 พันราย เสียชีวิตกว่า 30 ราย ลูกเสียชีวิต 21 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตในคนท้องที่ติดโควิด 1% กว่า ๆ เกือบ 2% ปัญหาคือการเสียชีวิตในคนท้องนั้นเท่ากับ 2 ชีวิต

เพราะฉะนั้นคนท้องจึงต้องได้รับการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น ยกการ์ดสูงสุด เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ ใช้ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ซึ่งจะลำบากมาก เนื่องจากปกติคนท้องจะหายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำให้รู้สึกหายใจไม่อิ่ม ดังนั้น การยกการ์ดสูงของคนท้องจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ช่วยเหลือด้วย ในการไปตลาด ซื้อของกินของใช้ให้ เพื่อให้คนท้องสามารถหยุดอยู่บ้าน หรือเว้นระยะห่างจริง ๆ

ประการที่สองคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งปัญหาคือตอนนี้ หญิงตั้งครรภ์ยังกลัวผลกระทบจากการฉีดวัคซีน เช่น การเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน เป็นผลมาจากการเสนอข่าว หรือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ยังไม่ได้กลั่นกรอง หรือยังไม่ได้ข้อสรุปผลการวินิจฉัยนั้นทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่คนท้องทั้งประเทศ

วัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหน ก็สามารถป้องกันการเจ็บหนัก การเสียชีวิตในคนท้องได้ ซึ่งก่อนฉีดจะมีแพทย์ประเมินอาการอย่างใกล้ชิด รวมถึงหลังฉีดก็ติดตามต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่นที่พิจิตร มีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 700 คน ตอนนี้ (9 ส.ค.) ฉีด 15 คน ติดตามอาการใน 24 ชม. มี 2 คนที่มีไข้ ปวดหัว เจ็บบริเวณที่ฉีด ที่เหลือไม่เป็นอะไร

พญ.ชัญวลี ระบุว่า จากข้อมูลในประเทศไทย 30 ปี ที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตลดลงมาก ตัวชี้วัดของกรมอนามัยคือเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ไม่เกินกว่า 20 ต่อแสนการเกิดมีชีพ หรือประมาณปีละ 100 คน ปัจจุบันประเทศไทยมีการคลอดลดลงในช่วง 10 ปีหลัง อยู่ที่ 7 แสนคนต่อปี ล่าสุดเหลือ 5 แสนคนต่อปี แต่ยังใช้ตัวชี้วัดเดิม

“ที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ปีละประมาณ 100 คน จากสาเหตุต่าง ๆ แต่เฉพาะปี 2564 ซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เฉพาะเดือน ก.ค.ที่มีการระบาดมากนั้น พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เกือบ 20 คน รวมในระยะที่ผ่าน ๆ มาประมาณ 30 ราย จากการติดโควิด ดังนั้นเฉพาะเดือน ก.ค. มีการเสียชีวิตจากโควิดเกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิต”

อัตราการเสียชีวิตจากโควิดของหญิงตั้งครรภ์อยู่ที่ 1% กว่า ๆ ถือว่าสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตในประชากรกลุ่มอื่นที่ติดโควิด เป็นตัวตอกยํ้าว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก และตอกยํ้าถึงความสำคัญของการรับวัคซีนมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมพบ 70% ไม่ได้ฉีดวัคซีน อีก 20% ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มเท่านั้น ส่วนคนที่ฉีดครบ 2 เข็ม แล้วเสียชีวิตนั้นมี 0.3% ดังนั้นขอให้หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ป้องกันตัวเองและลูกในครรภ์.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง