อีก 2 เดือนจะครบ 5 ปีเต็มๆ สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายแรกของประเทศไทย สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง การขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเริ่มงานก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ปี 60 แต่เดิมวางเป้าหมายเปิดบริการในปี 66 จนถึงขณะนี้ได้ผลงานก่อสร้าง 15.49%

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) รวมทั้งร่วมทดลองนั่งรถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. ทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน

นายศักดิ์สยาม สรุปผลการหารือและแผนดำเนินงานเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศและจีน ดังนี้

1.การก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วย โครงการรถไฟไฮสปีด เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะเร่งรัดให้เปิดบริการปี 69, โครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 356 กม. วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 65 คาดว่า เปิดบริการปี 72 และโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายในปี 65 เริ่มก่อสร้างปี 66 แล้วเสร็จประมาณปี 68

2.การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟ และการใช้สะพาน สปป.ลาว เห็นชอบแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ตามที่กรมทางหลวง (ทล.) เสนอ ประกอบด้วย สะพานเฉพาะรถไฟ 1 แห่ง และสะพานรถยนต์ 1 แห่ง โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ที่ใช้เดินรถไฟและรถยนต์ร่วมกันในปัจจุบันจะอยู่ระหว่างกลาง 2 สะพานใหม่ สะพานรถไฟใหม่ห่างสะพานตัวเก่า 30 เมตร มี 4 ราง แบ่งเป็น Meter Gauge ขนาดราง 1 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟทางคู่ และ Standard Gauge ขนาดราง 1.435 เมตร 2 ราง สำหรับรถไฟไฮสปีด ขณะที่สะพานรถยนต์อยู่ติดสะพานเดิมมีขนาด 2 ช่องจราจร

ฝ่ายลาวเสนอให้พัฒนาระบบรางก่อน ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่าจะออกแบบตามแนวทางที่ ทล.เสนอ แต่ระยะแรกจะสร้างสะพานรถไฟก่อน ในอนาคตหากถนนบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เกินขีดความสามารถรองรับ จะสร้างสะพานรถยนต์ในระยะต่อไป สำหรับการสร้างสะพานแห่งใหม่ ฝ่ายไทย และฝ่ายลาวจะลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ส่วนการศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ทล.เป็นผู้ศึกษา 1-2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสะพานรถไฟได้ลางปี 67 แล้วเสร็จประมาณกลางปี 68-69

เมื่อก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เสร็จ รถไฟไฮสปีดของไทยสามารถใช้สะพานข้ามไปยังฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน ได้ทันที ช่วง 2-3 ปีนี้ต้องเจรจากับฝ่าย สปป.ลาว ทำทวิภาคีร่วมกันให้รถไฟไฮสปีดไทยเดินรถข้ามสะพานรถไฟแห่งใหม่ และใช้รางของลาวเดินรถตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ไปยังคุนหมิงได้เลย ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ แต่เมื่อใช้รางของลาวต้องลดความเร็วเดินรถให้เท่ากับความเร็วของรถไฟลาว-จีน เพราะระบบอาณัติสัญญาณไม่ได้รองรับความเร็วสูง รถไฟลาว-จีน ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 160 กม.ต่อ ชม. รถไฟไฮสปีดอยู่ที่ 250 กม.ต่อ ชม.

3.การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย-ลาวระยะเร่งด่วน พัฒนาสถานีหนองคาย รองรับการขนส่งสะพานเดิมโดยเพิ่มรถจาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มจาก 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ รวมถึงพัฒนาบริเวณสถานี 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง และระยะยาวพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รองรับการขนส่งจากลาว-จีน และส่งออกไปยัง สปป.ลาว

การเดินรถไฟจากไทย-ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ยังสิ้นสุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ขณะนี้ฝ่ายลาวได้ก่อสร้างเส้นทางจากท่านาแล้งไปสถานีบ้านคำสะหวาด (เวียงจันทน์) เสร็จเรียบร้อยแล้ว รฟท.มีแผนเปิดเดินขบวนรถโดยสารเพิ่มเติม 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน (ปลายปี 65 หรือต้นปี 66) จะขยายต้นทาง/ปลายทางในฝั่งลาว (หนองคาย-ท่านาแล้ง) จากสถานีท่านาแล้ง เป็นสถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 4 ขบวนไป-กลับ หากต้องการใช้บริการรถไฟลาว-จีน ต่อรถโดยสารสาธารณะ 16 กม. ไปขึ้นที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ได้

ระยะกลาง (ปี 67) ขยายต้นทาง/ปลายทางในฝั่งไทย จากสถานีหนองคาย เป็นสถานีอุดรธานี วันละ 4 ขบวนไป-กลับ และเปิดเดินขบวนรถระหว่าง สถานีนครราชสีมา-สถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 2 ขบวนไป-กลับ และแผนระยะยาว (ปี 68) จัดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ระหว่างสถานีบางซื่อ/พัทยา-สถานีบ้านคำสะหวาด วันละ 2 ขบวนไป-กลับ

รมว.คมนาคม บอกด้วยว่า ฝ่ายลาวมีเป้าหมายผลักดันประเทศเป็น Land-Linked เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทย จีน และเวียดนาม ไทยเล็งเห็นศักยภาพ จึงเสนอเพิ่มโอกาสเชื่อมต่ออาเซียนไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ จากการใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีนด้วย โดยเชื่อมต่อมาเลเซียด้วยระบบรถไฟทางคู่ รวมถึงเชื่อมต่อสิงคโปร์ด้วยท่าเรือในโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ฝ่ายไทยจึงเสนอตั้งคณะทำงาน 5 ประเทศ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อบูรณาการระบบรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รองรับระบบรถไฟระหว่างประเทศ

รองนายกฯ และรมว.คมนาคม นำทีมไทยแลนด์ประชุมกระชับแผนรถไฟไทยเชื่อมลาวจีน และขยายโครงข่ายรถไฟไทยในฝันเชื่อม 4 ประเทศ แต่!!….อีกกี่ปี??….ถึงจะใกล้ความจริง

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์