พุทธภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ซึ่งแปลว่า การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ถือเป็นความจริงแท้ของมนุษย์ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี โดยไม่ให้มีโรคใด ๆ มาย่ำกราย ก็ถือว่า โชคดี!! เรียกว่า… ได้ลาภอันประเสริฐยิ่งกว่าถูกหวยซะอีก!!

แต่!! พุทธภาษิตดังกล่าว อาจถูกเบียดและถูกแซงโค้ง ด้วยคำกล่าวที่ว่า “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐยิ่งกว่า” โดยเฉพาะในห้วงเวลาเช่นนี้ ในห้วงเวลาที่เต็มไปด้วย “ความเสี่ยง”

หลายสำนักวิจัย ภาคเอกชน หรือแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ต่างออกมาแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้า ว่า…จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ที่มาของภาวะเศรษฐกิจถดถอย มาจาก 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.ความรุนแรงของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

2. ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง

3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อันเนื่องมาจากการใช้นโยบายซีโร่-โควิดในเมื่อ

สถานการณ์โลกไม่ดี แล้วสถานการณ์ไทยจะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร? สุดท้ายหนีไม่พ้นก็ต้องได้รับ “หางเลข” ไปด้วย…

นี่…เป็นเพียงเหตุปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอก ขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศไทยเอง ก็มีความเสี่ยงไม่น้อย ความเสี่ยงที่ว่า..คงหลีกหนีไม่พ้นจากเรื่องของ “หนี้”!!

แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มผงกหัวกันได้บ้างแล้วก็ตาม แต่การฟื้นตัวที่ว่า ก็ยังเป็นการฟื้นตัวแบบบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น ไม่ได้ฟื้นตัวกันแบบถ้วนหน้าทั้งประเทศ

ดังนั้น!! ปัญหาเรื่อง หนี้จึงไม่ได้ผ่อนคลายหรือลดน้อยถอยลงไป แม้ในเวลานี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88% ต่อจีดีพี ก็ตาม

แต่ในแง่ของมูลค่าหนี้ครัวเรือน กลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี ที่มีมูลค่าหนี้ครัวเรือนเพียง 14.65 ล้านล้านบาท

ยอดคงค้างของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโตในอัตราที่ชะลอลง เพราะบรรดาลูกหนี้รายย่อยชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ประเภท “หนี้บ้าน-หนี้รถ”

ด้านบรรดารากหญ้า บรรดารายย่อย รวมถึงภาคครัวเรือน กลับมีหนี้สินที่อยู่ในแบบของบัตรรูดปื๊ดรูดปื๊ด รวมไปถึงสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจาก 7.9% ของหนี้ครัวเรือน ในต้นปี มาอยู่ที่ 8.2%

ตัวเลขที่โป่งขึ้นเช่นนี้ แสดงให้เห็นชัด ๆ ว่า บรรดาครัวเรือนต่างรูดปื๊ด ต่างกู้หนี้ส่วนบุคคล เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันกันมากขึ้น

ในเมื่อไม่มีเงิน และยังมีช่องทางการกู้เงินได้อีกสารพัด แถมยังเห็นกันอยู่อย่างดาษดื่น ทั้งตามป้ายรถเมล์ ตามฝาผนังข้างทาง ตามรั้วบ้าน หรือแม้แต่การโฆษณาผ่านมือถือ ผ่านทีวี ผ่านโซเชียล สารพัด

โดยเฉพาะบรรดา เงินกู้ด่วน หรือเงินกู้ที่นำสินทรัพย์ไปแลก หรือแม้กระทั่งเงินกู้ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยซ้ำ ก็มีให้เห็นแทบทุกวินาทีกันทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ แบงก์ชาติ ก็เตรียมงัดไม้เด็ดมาล้อมคอก เพราะหวังว่าจะทำให้ “ตัวกระตุ้น” ต่อมอยากเป็นหนี้ บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง เพราะอย่าลืมว่า ทุกวันนี้ “สื่อ” มีอิทธิพล มีแรงดึดดูด ในการตัดสินใจได้ไม่น้อย

แม้แนวทางที่แบงก์ชาติเลือกใช้ อาจเป็นเพียงหนังสือเวียน เพื่อกำหนดแนวทางการโฆษณา ผ่านการจัดทำแคมเปญ ที่จะปล่อยสินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต

รวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ ที่ครอบคลุมไปถึง ความสามารถในการดำรงชีพ นอกเหนือจากความสามารถในการชำระหนี้ แม้แบงก์ชาติจะยังไม่ทำทันทีก็ตามเถอะ

แต่ก็อย่าลืมว่า… ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่สั่งสมกันมานาน คงไม่มียาวิเศษขนานใด ที่นำมาใช้แล้วหายวับไปในทันที ที่สำคัญ ต้องทำให้ถูกต้อง ถูกช่วงเวลา

เพราะไม่เช่นนั้น วังวนเดิม ๆ อย่าง “หนี้นอกระบบ” ก็จะกลับคืนมา!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”