ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่ “ส่งผลเสียกับชีวิต!!” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความบางช่วงบางส่วนจากการที่มีผู้เชี่ยวชาญ “เตือน” ไว้…เกี่ยวกับ “เนือยนิ่ง” …ทั้งนี้ วันก่อน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อข้อมูลน่าสนใจกรณี “หมดไฟ” ที่ยุคมี “โควิด-19” นี่แม้แต่เด็กวัยเรียนก็เป็นกันได้…ส่วนวันนี้จะสะท้อนต่ออีกกรณีที่ก็เป็นผลพวงอีกมุมจากโควิด…

“เนือยนิ่ง” ในระดับ “พฤติกรรม-ภาวะ”

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา “คนไทยเป็นกันมาก”

แม้ดูไม่น่ากลัว…แต่จริง ๆ “ควรกลัว!!”

เกี่ยวกับ “คำเตือน” กรณี “เนือยนิ่ง” ที่เรา ๆ ท่าน ๆ คนไทยในยุคนี้มีโอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้กันมากขึ้น ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจในวันนี้ เป็นการระบุเตือนไว้โดย ดร.วริศ วงศ์พิพิธ อาจารย์สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้คำแนะนำการแก้ไขพฤติกรรมเนือยนิ่งไว้ผ่านทาง เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงมีการอธิบายไว้เกี่ยวกับภาวะดังกล่าวนี้ ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีดังนี้… 

เนือยนิ่ง” นั้น…ในทางหลักวิชาการแล้วหมายถึง… พฤติกรรมที่เป็นการนั่งเอนหลัง หรือการนอนอยู่บนเตียง ขณะที่ตื่นนอนอยู่ รวมไปถึง… ภาวะที่ต้นขาอยู่ขนานกับพื้นขณะที่ตื่นนอน ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมหรือเป็นกิจกรรมที่ ร่างกายมีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างต่ำกว่าปกติ และยกตัวอย่างเกี่ยวกับการนั่ง…ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการนั่งเป็นระยะเวลานานเพียงใดจึงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยเชิงการทดลองที่พบว่า…ถ้าหากเป็นไปได้ ในการใช้ชีวิตประจำวันนั้นคนเราไม่ควรนั่งนานต่อเนื่องเกินกว่า 30-60 นาที เพื่อ…

“ป้องกัน” ไม่ให้เกิด “เนือยนิ่งสะสม”

ทั้งนี้ ถ้าพบว่าตนเองกำลังเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง กับคำแนะนำนั้นทาง ดร.วริศ ได้ระบุไว้ว่า… ระหว่างวัน หลังจากมีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่อง 30 นาทีแล้ว ควรมีการ “แทรกกิจกรรมทางกาย” เข้ามา… เช่น… ยืน เขย่งขา ย่อตัว อยู่ที่โต๊ะทำงาน โต๊ะเรียน หรือเดินเบา ๆ เดินเร็ว เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ มีการบีบและคลายตัว ซึ่งการแทรกกิจกรรมทางกายนี้ทำ เพียงประมาณ 1.5-3 นาที เท่านั้น โดยหากอยู่ที่ทำงานก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลาหรือหลุดจากโฟกัสของงาน…

การทำกิจกรรมทางกายดังกล่าวนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญระบุไว้ว่า… ประยุกต์ใช้กับคนไทยได้ทุกช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร

“ตายก่อนวัยอันควร” ยึดโยง “เนือยนิ่ง”

ทางนักวิชาการสาขาสุขศึกษาและพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่คนไทยผ่านบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้อีกว่า… พฤติกรรม“เนือยนิ่ง” สามารถจะ “ส่งผลกระทบกับระบบร่างกาย” ได้ ทั้งนี้ คนที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดกระบวนการอักเสบระดับต่ำแบบเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิด “สารก่อความเป็นพิษ หรือ “ไคนูเรนีน” ในร่างกายและสมอง และเมื่อมีการสะสมของไคนูเรนีนในปริมาณสูง ก็จะนำมาซึ่งภาวะ “เครียด” และ “ซึมเศร้า” ก็จะ “ส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพจิต” รวมถึง…

“ระบบสมองมีการทำงานเสื่อมถอยลง”

เจ้าสารไคนูเรนีนที่ว่านี้ จะกระตุ้นกลไกการเกิดความเครียด และทำให้เกิดภาวะ “เอ็กไซโททอกซิก” จะส่งผลทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อระบบประสาททำให้สมองเกิดการเสื่อมถอย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า รวมทั้ง เกิดความรู้สึกไม่มีแรงกระตุ้น เฉื่อยชา ขาดโฟกัส วิตกกังวล ฯลฯ รวมถึง เกิดความบกพร่องทางการรู้คิด เช่น ประสิทธิภาพเรื่องการยับยั้งชั่งใจ ความจำ สมาธิจดจ่อ ความคิดเชิงบริหาร จะย่ำแย่ลง ซึ่งความบกพร่องทางการรู้คิดยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขาดความสามารถในการเข้าสังคม ในการประกอบอาชีพ ในการหารายได้ …โดยที่ความ “บกพร่องทางการรู้คิด” นี้…การมีพฤติกรรม “เนือยนิ่ง” มากเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจ “ส่งผล”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก พบว่า… 3 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ใช้เวลาแต่ละวันโดยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสะสมมากเกินไป ซึ่ง การใช้ชีวิตแบบมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากอาจจะกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งในศตวรรษนี้ ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวนี้ในประเทศไทยนั้น…ก็มีการสำรวจพบว่า… ช่วงปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดมากของโควิด-19 การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทยโดยเข้าข่ายมีพฤติกรรม “เนือยนิ่ง” ในแต่ละวันนั้นกินเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 14.32 ชั่วโมง …ซึ่งมาถึงตอนนี้แม้ “โควิดซา” มีการคลายล็อกคุมโควิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กรณีนี้ก็ “ยังตกค้าง” ทั่วทุกหัวระแหง…

“คำเตือนผู้เชี่ยวชาญ” ข้างต้น “สำคัญ!!”

โควิดซาแต่กรณีนี้อาจเป็น “พิษตกค้าง”

คนไทย “อย่าประมาทพิษภัยเนือยนิ่ง”

มิใช่ไวรัสร้าย..แต่ “ร้ายจริง-น่ากลัว!!”.