แม้ผลการโหวตของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะชนะกันแบบเฉียดฉิว ให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ค่ายมือถือ “ทรู-ดีแทค” แบบมีเงื่อนไขหลายข้อ แล้วภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย จากผู้ประกอบการ 3 ราย หดลงมาเหลือ 2 ราย ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร โอกาสที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดมีความเป็นไปได้หรือไม่?

“เงื่อนไข” น่าสนใจ-ต้องบังคับใช้ให้ได้!

ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับ ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่ติดตามปัญหาการแข่งขันทางการค้า การประมูลคลื่น 3จี และการควบรวมของธุรกิจมือถือระหว่าง “ทรู+ดีแทค” กล่าวถึงสถานการณ์ของธุรกิจโทรคมนาคมหลังจากนี้ว่า เรื่องทรู+ดีแทคยังไม่จบ! เพราะมีการฟ้องร้อง กสทช. กันอยู่ ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองการควบรวม ทั้งจากองค์กรผู้บริโภค และฝ่ายการเมือง คือพรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการฟ้องร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ

โดยหนึ่งในประเด็นการฟ้องร้อง คือผลการโหวตของ กสทช. 5 คน ชอบหรือไม่ชอบ? เพราะคะแนนโหวตไม่ได้ชนะกันแบบเอกฉันท์ แต่ประธาน กสทช. ต้องร่วมโหวตด้วย

ดังนั้นกระบวนการฟ้องร้องขององค์กรผู้บริโภคและฝ่ายการเมือง ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้ามองปัญหาระยะยาวจากผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เมื่อผู้ประกอบการน้อยลง 1.การแข่งขันจะลดลง เนื่องจากเหลือแค่ 2 ราย ไม่ต้องแข่งขันกันแล้ว 2.การพัฒนาจะน้อยลง ล้าหลังไป 10 ปี นี่คือข้อมูลจากที่ปรึกษาต่างประเทศ ที่ กสทช. ไปจ้างมาทำการศึกษาวิจัย 3.ราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อย และ 4.จีดีพีลดลง

ส่วน “เงื่อนไข” ที่ กสทช. กำหนดออกมาหลังการควบรวม ตนมองว่ามีบางข้อน่าสนใจ ถ้า กสทช. บังคับให้ทำได้จริง จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ “ควบรวม” กันจะดีกว่า (หัวเราะ) แล้วคำถามตามมาคือ กสทช. จะบังคับใช้ “เงื่อนไข” ได้จริงหรือเปล่า?

เช่น เงื่อนไขให้แยกค่าบริการออกมา ต้องให้บริการแบบแยกประเภท ไม่ใช่ขายแบบแพ็กเกจ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในราคาต้นทุนเฉลี่ย ซึ่งในหลักเศรษฐศาสตร์คือการปิดโอกาส เพื่อไม่ให้ได้กำไรมากเกินปกติ ด้วยการตั้งราคาเท่ากับต้นทุนเฉลี่ยทุกไตรมาส แยกราคาค่าบริการในแต่ละประเภท ที่ไม่รวมเป็นแพ็กเกจ

หรือเงื่อนไข MVNO (ผู้ให้บริการที่ไม่มีเครือข่ายของตัวเอง) สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้เช่นเดียวกับตนเอง ผู้รับใบอนุญาต MVNO ต้องได้รับสิทธิในการใช้บริการจากคลื่นความถี่ในทุกย่านของผู้รวมธุรกิจที่มีสิทธิในการใช้งาน ทั้งสิทธิทางตรงและสิทธิที่ได้รับช่วงมาภายใต้มาตรฐานเทคโนโลยีเดียวกัน การเข้าใช้บริการโครงข่ายสำหรับผู้รับใบอนุญาต MVNO ต้องได้รับการประกันสิทธิ ในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการที่ กสทช. กำหนด จะต้องไม่ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต MVNO อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

ตลาดมือถืออิ่มตัว-รายใหม่แจ้งเกิดยาก!

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะมีผู้ประกอบการรายที่ 3 เกิดขึ้นมาใหม่ ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า ผู้ประกอบการจาก 3 ราย แล้วควบรวมกันเหลือ 2 ราย แต่จะให้มีรายใหม่เกิดขึ้น ตนมองว่าเป็นเรื่องยากมาก! เนื่องจากตลาดมือถือในประเทศไทยถึงจุดอิ่มตัว คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว หลายคนมีมากกว่า 1 เบอร์ ด้วยซ้ำไป

ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ ถ้าจะเข้ามาต้องลงทุนเรื่องคลื่นความถี่ ลงทุนโครงข่าย ต้องตั้งเสาใหม่ เพื่อเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเดิม ด้วยการเข้ามาตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้ากัน ตนมองว่าลำบาก และโอกาสเกิดยากมาก!

“หลายคนพูดถึง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) มีคลื่นอยู่มากพอสมควร แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า เอ็นทีไม่สามารถเป็นคู่แข่งอย่างเป็นจริงเป็นจังกับบริษัทเอกชนได้ เนื่องจากยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเก่า (แคท+ทีโอที) จึงไม่คล่องตัว และต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ จะสูงกว่าเอกชน แต่ถ้าเอ็นทีจะเข้ามาเป็นผู้เล่นด้วย และต้องการส่วนแบ่งในตลาด 20% น่าจะต้องผ่าตัดองค์กรกันขนานใหญ่ ก่อนจะไปสู่จุดนั้นได้” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว

หลังจากนี้ “กสทช.-รัฐบาล” ต้องรับผิดชอบ!

ทางด้าน ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อิสระ กล่าวว่า ในภาพรวมหลังจากนี้น่าห่วงมาก เนื่องจากผู้บริโภค (ประชาชน) ต้องแบกรับภาระมากขึ้นจากกรณีการ “ผูกขาด” ของธุรกิจโทรคมนาคมจาก 3 ราย ลดลงมาเหลือ 2 ราย เพราะไม่ว่าจะให้หน่วยงานไหนไปทำการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องมีผลกระทบสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ราคาค่าบริการสูงขึ้น 2.การให้บริการแย่ลง

“เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย กับผลกระทบเกี่ยวกับราคา และการให้บริการ เพราะการใช้ชีวิตของประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ในยุคนี้ ผูกติดอยู่กับโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจต้องติดต่อสื่อสาร ต้องค้นคว้าหาข้อมูล จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ธุรกิจเล็กๆ เดือดร้อนแน่ เพราะมีต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่เงื่อนไขต่างๆ ที่ กสทช. กำหนดออกมา โดยส่วนตัวมองว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก และยังไม่มีกลไกใดๆ ที่จะทำให้เชื่อว่า เงื่อนไขต่างๆ สามารถทำได้จริง”

ดร.สิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โครงสร้างของตลาดโทรคมนาคมเป็นแบบผูกขาดไปแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ก้าวเข้ามา ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องฝากความหวังไว้ที่ “เงื่อนไข” ของ กสทช. ต้องมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน และมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเงื่อนไขต่างๆ ที่คลอดออกมา ต้องผูกติดกับ กสทช. ด้วย เงื่อนไขนี้ต้องชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวของ กสทช. ด้วย ไม่ใช่แค่กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ทรู+ดีแทค ปฏิบัติ แล้ว กสทช. ไม่ได้ติดตามและประเมินผลเลย

“เมื่อคุณปล่อยให้มีการควบรวมเกิดขึ้น ยอมให้มีการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม คนที่ต้องรับผิดชอบต่อไปจากนี้คือ กสทช. และรัฐบาล ดังนั้น กสทช. ต้องบังคับใช้เงื่อนไขให้ได้อย่างมีประสทธิภาพ ที่สำคัญคือ 1.ต้องมีกลไกลงโทษผู้ประกอบการ 2.ต้องมีกลไกลงโทษผู้ตรวจสอบ (กสทช.) ด้วย” ดร.สิทธิพล กล่าว.