ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยเรื่อง “ความเชื่อ…การพนันและหวย” โดย วัฒนา สุกัณศีล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้มีการเรียบเรียงและเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านบทความวิจัยชื่อ “หวยศาสตร์…ใครว่าถูกหวยเป็นความบังเอิญ” นั้นก็ยังมีข้อมูลมีประเด็นที่น่าสนใจ-ที่น่าพินิจอีก…

ที่เป็นการพยายามหาคำตอบ “เลขเด็ด”

ที่ว่า “แม่น?” นั้น “มาจากปัจจัยอะไร?”

ทั้งนี้ งานวิชาการดังกล่าวฉายภาพไว้ว่า…หลายคนจะมอง “หวย” เป็นการเล่นพนันที่อาศัยหลักความบังเอิญ ซึ่งเกิดจาก “การสุ่ม” เพราะโอกาสที่ชุดเลขหวยที่ซื้อ 1 ใบจะถูกรางวัลนั้น ขึ้นอยู่กับระบบหรือวิธีการเลือกตัวเลขแต่ละตัวด้วยการสุ่มเลือกเลข 0-9 ซึ่งแต่ละตัวย่อมมีโอกาสได้รับเลือกเท่า ๆ กัน ดังนั้นโอกาสที่หวย 1 ใบจะถูกรางวัลขึ้นอยู่กับโอกาสเป็นไปได้ที่ชุดเลขหวยนั้นจะเป็นเลขตรงกับชุดเลขรางวัลที่ออก ซึ่งมีตั้งแต่ 1 ใน 100 กรณีเลขท้าย 2 ตัว และ 1 ใน 1,000,000 กรณีรางวัลที่ 1 ซึ่งแม้จะมีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะคำนวณสถิติได้ว่าหวย 1 ใบจะถูกรางวัลอะไรได้บ้าง แต่ก็ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะความรู้ ที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าจะทำได้ง่าย ๆ ดังนั้น “การสุ่ม” จึงเป็น “หลักที่คอหวยใช้” ในการเลือกเลขหวย…

ทำให้ถูกมองเป็นเรื่อง “ความบังเอิญ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็กลายเป็นคำถามสำคัญที่ว่า…“ความบังเอิญจากการสุ่มคืออะไร?” และ… “ทำให้เชื่อว่าคอหวยสามารถเอาชนะได้ทั้ง ๆ ที่เสียเปรียบ…ได้อย่างไร?” ซึ่งก็มีคำอธิบายไว้ว่า…โดยปกติมนุษย์มักคิดมองหารูปร่าง ร่องรอย เบาะแส และแบบแผนอะไรบางอย่าง ในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวอยู่แล้ว เช่น ก้อนเมฆมีรูปร่างเหมือนอะไรที่รู้จักคุ้นเคย ปลีกล้วยถูกมองเป็นรูปหัวพญานาค เป็นต้น ซึ่งด้วยความคิดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไป ดังนั้นคนเราจึงเชื่อว่า…สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญมีความหมาย หรือต้องการสื่ออะไรสักอย่าง …และนี่ก็รวมถึง “ความเชื่อเรื่องเลขหวย” ด้วย

เรื่องของ “เลขหวยที่ถูกรางวัล” ที่หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่อง “การสุ่ม-ความบังเอิญ” นั้น ในบทความวิจัยดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… “อาจไม่จริงเสมอไป?” เพราะคอหวยอาจจะมีแบบแผน หรือมีกระบวนการที่ทำให้มีเหตุผลมารองรับในการ “เลือกเลขที่ชอบ-เลือกเลขที่ใช่” สำหรับตัวเอง โดย ทฤษฎีหนึ่งที่นำมาอธิบายเรื่องนี้ได้ก็คือ “กฎว่าด้วยจำนวนมาก ๆ” ซึ่งถ้าเปิดโอกาสและให้เวลามากพอ เหตุการณ์ เรื่อง หรือผลลัพธ์แปลกประหลาด ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ทำให้ “การถูกหวย” จึงเป็นเหตุการณ์ที่ “ดูเหมือนเป็นปาฏิหาริย์” หรือเป็นเรื่องราวพิสดาร ซึ่งเหตุการณ์ในรูปแบบนี้นั้น…

มักเป็นเรื่องที่ผู้คนจดจำได้ง่ายกว่ามาก

มักจดจำการถูกหวยมากกว่าเสียหวย!!

นอกจากนั้น ยังอาจนำ ทฤษฎี “ภาวะไร้ระเบียบ” มาใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์เริ่มรู้แล้วว่า…ในระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนั้น ต้นเหตุที่แตกต่างกันเพียงน้อยนิดก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้อย่างมหาศาล โดยทฤษฎีความไร้ระเบียบนี้ได้ถูกนำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงกัน และสร้างผลลัพธ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายได้” เช่นกัน

จากทฤษฎีดังกล่าวนี้ ก็อธิบายได้ว่า… ตรรกะของ “นักพนัน” ที่ไม่เฉพาะแค่ “กลุ่มคนเล่นหวย” นั้น มีความเชื่อว่า… ความบังเอิญเป็นเรื่องที่สามารถปรับแก้ความผิดพลาดได้ เช่น นักพนันที่รู้สึกว่ากำลังจะเล่นได้ จากที่ได้เล่นเสียไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นต้น ซึ่งตรรกะและความคิดดังที่ว่านี้ มีอิทธิพลมากกว่าการเล่นพนันที่ใช้ทักษะความสามารถ

กับกรณี “คนเล่นหวย” ยังมีการอธิบายไว้ว่า…มองภาพกว้าง คนเล่นหวยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนขนาดใหญ่ แต่หวยรัฐงวดหนึ่งกลับมีผู้ถูกรางวัลได้เพียงหมื่นกว่าคนเท่านั้น อีกทั้งคนจำนวนมากที่ซื้อหวยนั้น ในระยะยาวแล้วโอกาสที่จะชนะหรือมีทางได้กำไรยังมีน้อยมาก ซึ่งผลรางวัลที่ออกขึ้นกับตัวเลขที่มีการสุ่มเลือกด้วยอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเฉพาะ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ “มูลค่าการซื้อหวยในแต่ละงวดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องเพราะคนเล่นหวยต้องซื้อด้วยเลขจำนวนมาก ซึ่ง…

ถือเป็นวิธี “สุ่มโดยใช้หลักความบังเอิญ”

แต่ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของบทความวิจัย “หวยศาสตร์…ใครว่าถูกหวยเป็นความบังเอิญ” ที่เรียบเรียงจากรายงานวิจัย “ความเชื่อ…การพนันและหวย” ซึ่งเผยแพร่ไว้โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ยังมีการระบุไว้ด้วยว่า…เคยมีนักวิชาการได้ให้คำแนะนำกับนักเล่นหวยไว้ว่า…ถ้าจะยึดตาม “หลักการสุ่มอย่างบังเอิญ” จริง ๆ นักเล่นหวยจะต้อง “คุมความคิด” และต้อง “ตั้งสติตัวเองไว้ให้มั่น” กล่าวคือ… ต้องตั้งใจที่จะไม่สนใจ ไม่ค้นหาเป้าหมายอื่นหรือมองหารูปแบบที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกันของตัวเลขเลย …เหล่านี้ก็เป็น “มุมวิชาการ” ที่มีการศึกษาวิจัย-วิเคราะห์ “การเล่นหวยของคอหวยไทย”…

ที่ “งวดส่งท้ายปลายปีเก่า” ก่อนปีใหม่

จะ “สุ่ม?-ไม่สุ่ม?” ซื้อ “เลขเด็ด” อะไร?

คนที่ “งวด (ปี) หน้าลองใหม่…ก็อื้อ!!”.

ศึกษาวิจัย ‘เลขเด็ด’ หวยศาสตร์ (ตอน 1) สร้างมูลค่ามหาศาล !