“เหยี่ยวลิสบอน” เบนฟิกา อาจไม่ได้คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของโปรตุเกสมาตั้งแต่ปี 2019 แต่หากพูดถึงศักยภาพในการผลิตนักเตะชั้นนำออกสู่ตลาดโลก เบนฟิกา คือยอดทีมอันดับ 1 ที่ไม่ใช่แค่โปรตุเกส แต่ยังที่ 1 ของโลกอีกด้วย

เอนโซ เฟอร์นันเดซ เป็นผลงานล่าสุดของเบนฟิกาที่ซื้อมาแค่ 15 ล้านปอนด์ แต่ใช้เวลาไม่ถึงปีสามารถขายต่อให้เชลซี ในราคา 106 ล้านปอนด์ หรือ ดาร์วิน นูนเญซ ถูกขายให้ลิเวอร์พูล 85 ล้านปอนด์ ทั้งที่ซื้อมาแค่ 21 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2020

ย้อนไปให้ไกลกว่านั้น ปี 2019 ชูเอา เฟลิกซ์ ลงเล่นชุดใหญ่แบบเต็มตัวแค่ฤดูกาลเดียวก็ขายให้แอตเลติโก มาดริด 115 ล้านปอนด์ หรือปีต่อมาก็ขายรูเบน ดิอาส เด็กปั้นที่อยู่กับทีมตั้งแต่อายุ 13 ให้กับแมนฯ ซิตี 65 ล้านปอนด์ ไปจอยกับ เอแดร์ซอน, แบร์นาโด ซิลวา และ ชูเอา คันเซโล เหล่านี้ก็ล้วนผลผลิตจากเบนฟิกา

ส่วนฤดูกาลนี้เบนฟิกายังมี 3 นักเตะที่คาดว่าคงอยู่กับทีมอีกไม่นาน ไม่ว่า กอนซาโล รามอส กองหน้าที่ทำแฮตทริคในฟุตบอลโลก, อันโตนิโอ ซิลวา กองหลัง และ ฟลอเรนติโน มิดฟิลด์ ทั้งสามคนที่ผลงานโดดเด่นช่วยให้ทีมเข้ารอบ 8 ทีมยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และรั้งจ่าฝูงลีกในประเทศ

หอสังเกตุการณ์ฟุตบอล CIES เผยข้อมูลปีที่แล้วว่าอคาเดมีของเบนฟิกาเป็นทีมที่สร้างกำไรได้มากที่สุดในโลก 379 ล้านยูโรนับแต่ปี 2015 ตามด้วย รีล มาดริด 330 ล้านยูโร และ โมนาโก 285 ล้านยูโร นี่จึงเป็นหลักฐานว่าไม่มีทีมไหนเก่งไปกว่าพวกเขาอีกแล้วในการปั้่นหรือซื้อถูกขายแพง

กลยุทธ์ของเบนฟิกาไม่ซับซ้อน พวกเขาพยายามสร้างเด็กปั้่นขึ้นมา ฤดูกาลที่แล้ว 70% ของผู้เล่นที่อคาเดมีเซ็นสัญญามีอายุระหว่าง 6 ถึง 12 ปี พวกเขายังตั้งอคาเดมี่สี่แห่งทั่วประเทศเพื่อรองรับนักเตะให้เข้าร่วมได้โดยไม่ต้องย้ายจากบ้านเกิด รวมถึงคัดเลือกเด็กที่มีแววผ่านแมวมองและคอนเนคชั่นที่มีอยู่ทั่วโลก

เหตุผลอีกอย่างที่สำคัญคือโปรตุเกสยังมีความต่างจากพรีเมียร์ลีกที่สามารถส่งนักเตะทีมสำรองลงเล่นระดับดิวิชั่น 2 และซ้อมกับทีมชุดใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ขณะที่อังกฤษได้แค่ส่งนักเตะออกไปทีมอื่นแบบยืมตัวเท่านั้น แต่ไม่ได้มีทีมสำรองของตัวเองในแชมเปียนชิพหรือลีกระดับล่าง

และนี่กลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก นักเตะดาวรุ่งได้แข่งในระดับสูง ได้พิสูจน์ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ พวกเขาจึงเติบโตอย่างรวดเร็วมั่นคง และอาจครองตำแหน่งโรงงานผลิตนักเตะอันดับ 1 ของโลกไปอีกนานทีเดียว.
เฮียเอง