กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม อ.เทิง จ.เชียงราย กลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ที่ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย กับ “อาชีพเลี้ยงปลานิลอินทรีย์” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทางกลุ่มฯ ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยง ซึ่งการเลี้ยงปลานิลอินทรีย์แบบธรรมชาติในบ่อดิน เป็นวิธีการเลี้ยงที่ใช้ต้นทุนตํ่า เลี้ยงดูแลง่าย ที่สำคัญขายได้ราคาดี โดยเนื้อของปลานิลที่เลี้ยงแบบอินทรีย์นั้น จะมีความหวาน นุ่ม และไม่มีกลิ่นคาว เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลมาให้พิจารณาเป็นกรณีศึกษา…

ชัยวัฒน์ อาลีย์ ผู้เลี้ยงปลานิลอินทรีย์ในบ่อดิน เล่าว่า… แต่เดิมมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกข้าว โดยที่ผ่านมา ก็เป็นการทำนาแบบเคมี ทำให้ทำแล้วขาดทุนทุกปี จนลูกสาว พิชญาภา ณรงค์ชัย ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง กลับมาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำนาข้าวเป็นรูปแบบอินทรีย์ และเริ่มเลี้ยงหมูดำเหมยซาน สร้างรายได้เพิ่ม จากนั้นก็เริ่มมาเพาะเลี้ยงปลานิลอินทรีย์ โดยได้กรมประมงเข้ามาสนับสนุนให้ความรู้และแนะนำการเลี้ยงแบบอินทรีย์ เลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยทางกรมประมง เข้ามาสอนการเพาะเลี้ยง และการสร้างอาหารแบบธรรมชาติให้ ก็เลยได้มาลองเลี้ยงปลานิลแบบอินทรีย์ เพราะเนื่องจากที่บ้านนั้นมีบ่อนํ้าที่ขุดไว้อยู่แล้ว แรก ๆ ก็เลี้ยงไว้กินเอง พอเหลือก็นำไปขาย แต่ปรากฏว่าปลานิลอินทรีย์ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงเริ่มที่จะเพาะเลี้ยงอย่างจริงจังมากขึ้น

“การเลี้ยงปลานิล เราใช้วิธีการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ 100% ไม่ใช้ฮอร์โมน ไม่ใช้สารเร่งโต เลี้ยงในบ่อดินที่อยู่ในพื้นที่อินทรีย์.. ซึ่งการเลี้ยงปลานิลแบบอินทรีย์นั้น สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงไปได้มากกว่าการเลี้ยงแบบอาหารเม็ด ในส่วนของเนื้อปลาที่เลี้ยงแบบอินทรีย์นั้น ก็จะมีความหวาน นุ่ม และไม่มีกลิ่นคาว และที่สำคัญขายได้ราคาดีกว่าการเลี้ยงแบบให้อาหารเม็ด และปลาที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ ตลาดก็มีความต้องการสูง” ชัยวัฒน์ กล่าว

การเพาะลูกปลานิล จะทำการเพาะในกระชัง โดยนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ใส่ลงในกระชัง พอเกิดลูกปลา ก็ทำการแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกมาจากกระชัง อนุบาลลูกปลานิลอยู่ในกระชัง การให้อาหารก็ให้เป็นรำละเอียด วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ประมาณ 40 วัน ก็นำลูกปลามาปล่อยลงบ่อเลี้ยงอีกประมาณ 1.5-2 เดือน ปลาก็จะเริ่มโตมีโอกาสรอดสูง…

การเตรียมบ่อเลี้ยง นั้นต้องเตรียมบ่อไว้ประมาณ 2 เดือน ก่อนถึงจะนำลูกปลามาลงเลี้ยง โดยในพื้นที่ 1 ไร่ ทำการขุดบ่อให้มีความลึกประมาณ 2 เมตร การเตรียมบ่อให้พร้อมก่อนที่จะใส่นํ้าลงในบ่อและนำปลานิลมาเลี้ยงนั้นให้พักบ่อไว้ 7 วัน จากนั้นก็นำปูนขาวโรยให้ทั่วทั้งบ่อ หลังจากที่โรยปูนขาวจนทั่วก็ให้สูบนํ้าเข้าบ่อได้ทันที ซึ่งปูนขาวจะเป็นตัวทำให้นํ้าในบ่อใส และเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาที่เลี้ยงเป็นแผล โดยสูบนํ้าเข้าให้นํ้าอยู่ที่ความลึกประมาณ 1 เมตรก่อน หลังจากที่เติมนํ้าลงบ่อ ก็มาทำอาหารธรรมชาติในบ่อ โดยใช้หญ้าเนเปียร์ ฟางข้าว และปุ๋ยคอกสลับเป็นชั้น ๆ วางบริเวณขอบบ่อ ใช้ไม้ไผ่ปักกันไว้ ทิ้งไว้ก็จะเกิดการย่อยสลาย และทำให้เกิดอาหารปลาธรรมชาติในบ่อ พวกไรแดง

หลังจากที่ทำการเตรียมบ่อเสร็จแล้ว ก็นำลูกปลาที่เพาะเตรียมไว้มาปล่อยลงในบ่อเลี้ยงได้เลย และหลังจากเลี้ยงปลานิลในบ่อไปได้ประมาณ 1 เดือน ก็ให้ใส่นํ้าเพิ่มให้ได้ ความลึก 1.5 เมตร

บ่อขนาด 1 ไร่ เลี้ยงปลานิลได้ประมาณ 5,000 ตัว

การให้อาหารก็จะให้ 2 เวลา เช้า-เย็น อาหารที่ให้ก็พวกแหนแดง และปลายข้าวหุงมาผสมกับรำ และนำมาปั้นเป็นก้อน ๆ โยนใส่บ่อเลี้ยงไว้เป็นอาหารของปลา ปลานิลที่เลี้ยงประมาณ 6 เดือน ขนาดนํ้าหนักปลาอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม โดย 1 บ่อต่อไร่ เลี้ยงปลาประมาณ 5,000 ตัว จะสามารถจับปลาได้ประมาณ 5,000 กิโลกรัมต่อบ่อ ราคาขายปลานิลอินทรีย์นั้น จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 75 บาท (ราคาหน้าบ่อ)

จับปลาขายครั้งหนึ่งก็จะได้เงินประมาณ 375,000 บาท/บ่อ

นอกจากนั้น ก็ยังมีการนำปลานิลไปทำการแปรรูป โดยการนำมาแล่เอาเฉพาะเนื้อแพ็กใส่ถุงซีลสุญญากาศอย่างดี แพ็กละ 1 กิโลกรัม ซึ่งปลานิล 3 กิโลกรัม แปรรูปแบบแล่เอาเฉพาะเนื้อได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท…หลังจากการแปรรูปแล้ว ก็จะเหลือในส่วนของ “เกล็ดปลา” ก็สามารถนำไปแปรรูปด้วยวิธีการทอดกรอบได้อีกด้วย ส่วนหัวปลาและก้างปลา ก็สามารถนำมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปบดทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีก

ต้นทุนในการเลี้ยงปลานิลแบบอินทรีย์ในบ่อดิน โดยการเลี้ยงปลานิลประมาณ 5,000 ตัว ตั้งแต่การอนุบาล จนปลาได้ไซซ์จับขายประมาณ 8 เดือนถึง 1 ปี มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารรวมประมาณ 25,000 บาท/บ่อ

ซึ่งถ้าหากใครสนใจปลานิลอินทรีย์ และผลผลิตแปรรูปปลานิลของชัยวัฒน์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-1819-8102…และนี่ก็เป็นกรณีศึกษา “การเลี้ยงปลานิลอินทรีย์” ที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก “ช่องทางทำกิน” กับผู้มีอาชีพด้านเกษตร ที่สามารถ
จะสร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี…หรือสนใจผลิตภัณฑ์แปรรูป ต่าง ๆ ของทาง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง” ต.ศรีดอนไชย อ.เทิง จ.เชียงราย ก็เข้าไปดูได้ทางเพจเฟซบุ๊ก : ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์Tungtom organics village