วันนี้เป็นวันดีของหนูน้อย นิดหน่อย วัยสองเดือน เพราะเธอสามารถหายใจได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เมื่อแพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจออกหลังจากที่เธอต้องพึ่งพามันมานาน 1 สัปดาห์เต็ม เพราะติดเชื้อโควิดจนแพทย์ต้องให้การดูแลในหออภิบาลผู้ป่วยเด็ก

เด็กบางคนที่ติดเชื้อโควิดอำลาหออภิบาลด้วยลมหายใจเฮือกสุดท้าย ยังความโศกเศร้าสะเทือนใจเสียจนแม้แต่หมอพยาบาลที่เฝ้าดูแลก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ 

วัยเด็กอันสดใสร่าเริงไม่ควรจะต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ ถ้าผู้ใหญ่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดและปฏิบัติสุขอนามัยโดยสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ ไม่เข้าไปในที่อโคจร  

ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขการได้รับวัคซีนแตกต่างกันระหว่างมลรัฐจากร้อยละ 37-70 การติดเชื้อโควิดของเด็กเป็นเครื่องวัดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่  มลรัฐที่ตัวเลขการได้รับวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 60 เด็กมีโอกาสติดเชื้อโควิดรุนแรงจนต้องนอนรพ.มากกว่ามลรัฐที่ตัวเลขมากกว่า (นิตยสารไทม์  SPOTLIGHT STORY: PEDIATRIC COVID-19 CASES ARE SURGING) 

วันนี้ตัวเลขคนไทยได้รับวัคซีนล่าสุดเมื่อ 25ส.ค.64 ร้อยละ 30 สำหรับเข็มแรก และครบสองเข็มร้อยละ 9  ถ้าอนุมานความสัมพันธ์ระหว่างร้อยละผู้ใหญ่ได้วัคซีนกับโอกาสเด็กติดเชื้อโควิดรุนแรงจนต้องนอน รพ.ของสหรัฐอเมริกา ก็คงอดห่วงไม่ได้ว่า ชะตากรรมของเด็กไทยต่อการติดเชื้อโควิดรุนแรงจะใกล้เคียงแบบสหรัฐหรือไม่

ความวิตกกังวลยังมีมากกว่านั้น เมื่อคำนึงถึงหัวอกคนเป็นพ่อแม่และเป็นแพทย์-พยาบาลหรือบุคลากรใน รพ.ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด วันละหลายหน  พวกเขาจะวิตกเพียงใดกับการนำเชื้อกลับไปฝากลูกที่บ้าน   

บุคลากรทำงานในห้องฉุกเฉินบางทีต้องรับมือกับคนไข้ในฉับพลัน ด้วยการ…ใส่ท่อช่วยหายใจ ปั้มหัวใจฟื้นชีพ โดยไม่ทันตั้งตัว ย่อมไม่มีเวลา 3-5 นาทีสำหรับสวมเครื่องป้องกันติดเชื้อโควิด  คนที่ไม่เคยสวมใส่ชุดอย่างนี้อาจนึกไม่ออกว่า ชุดทำให้รู้สึกอึดอัดอย่างไร  ยิ่งไม่ต้องนึกถึงการสวมไว้ตลอด 8 ชั่วโมงเต็มในการอยู่เวรแต่ละกะ  

คนไข้อีกประเภทที่สร้างความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิดและทำร้ายบุคลากรคือ คนไข้ตัวโตเมาแอ๋ คุมสติไม่ได้จึงออกอาการฟาดงวงฟาดงา เอะอะเอ็ดตะโร ลองนึกดูสิครับว่าสำหรับ รพ.อำเภอเล็กๆ เวรดึกมีพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และพนักงานเวรเปลเพียงสามคนอยู่เวร ถ้าต้องเจอคนไข้ประเภทนี้จะจัดการได้อย่างไร  

นานมาแล้วเคยมีข่าวที่ผมเองได้สอบถามถึงที่ยืนยันโศกนาฏกรรมของพยาบาลจบใหม่ ถูกคนไข้ลักษณะเช่นนี้กระชากแขนจนไหล่หลุดพิการขณะพยายามให้การดูแลในเวรดึก เท่าที่ได้ยินจากผู้บริหาร รพ.หลายคน ซึ่งมีความตระหนักในเรื่องอย่างนั้น ได้ตกลงกับหน่วยรักษาความปลอดภัย เช่น ตำรวจ ทหาร ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่ ส่งความช่วยเหลือในสถานการณ์เสี่ยงภัยเช่นที่กล่าวมา 

ผมก็หวังว่าการช่วยเหลือนี้จะมาทันการณ์  บางพื้นที่หน่วยรักษาความปลอดภัยส่งกำลังคนมาอยู่เวรด้วยในช่วงเทศกาลที่มีคนเมาชุกชุม.

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด