วันนี้ “ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยง” มีคำถามจากท่านเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้มีคำถามมาปรึกษาว่า สุนัขพันธุ์บีเกิลที่เลี้ยงไว้ อายุ 3 ปี จู่ ๆ ก็มีอาการชักกระตุก น้ำลายไหล อุจจาระ ปัสสาวะราด แล้วสักพักก็ค่อย ๆ ดีขึ้น เกิดจากสาเหตุอะไร และควรทำอย่างไรกับอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการของโรคลมชัก โดยโรคลมชักนั้น มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการส่งกระแสประสาทในสมอง (ราวกับไฟฟ้าช็อตลัดวงจรนั่นเอง) ทำให้สัตว์ไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ชั่วขณะ ซึ่งจะพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการเกร็งกระตุกทั้งร่างกาย มีอาการขับถ่ายไม่รู้ตัวหมดสติ ไม่รับรู้ (อาการเหมือนกับ “ผีเข้า”) แต่ก็มักจะเป็นอยู่ไม่เกิน 5 นาที แล้วอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ หยุดและฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สาเหตุของโรคลมชักนั้นมีได้หลายอย่าง โดยแบ่งออกเป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น โรคลมบ้าหมู โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกในสมอง โรคสมองอักเสบ สมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบมายังสมองอีกที ตัวอย่างเช่น การได้รับสารพิษ โรคตับวาย โรคไตวาย ภาวะน้ำตาลต่ำ ภาวะแร่ธาตุแคลเซียมต่ำ โรคพยาธิเม็ดเลือด เป็นต้น

คำแนะนำในการปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่เกิดอาการชัก มีขั้นตอนดังนี้ 1. เจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรพยายามอยู่ในความสงบ และตั้งสติ 2. จากนั้น พยายามจัดสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น ไม่อยู่บริเวณที่สูงหรือมีสัตว์ตัวอื่นที่อาจเข้ามาทำร้ายได้ 3. ห้ามใช้สิ่งของต่าง ๆ หรือมือ เข้าใกล้ หรือใส่ปากของสัตว์เลี้ยงในขณะที่มีอาการชัก เพราะอาจทำให้ถูกกัดหรือทำให้สัตว์เลี้ยงสำลักได้ 4. ไม่จำเป็นต้องพยายามจับบังคับหรือล็อกตัวสัตว์เลี้ยง ให้ลูบที่ลำตัวของสัตว์ และเรียกชื่อเบา ๆ ก็เพียงพอแล้ว 5. สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และเป่าพัดลมได้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงหลังจากชัก 6. หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับอาการชักอยู่แล้ว ให้จดบันทึกรายละเอียดอาการชักเอาไว้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ต่อไป 7. หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อน ควรพาไปตรวจอาการกับสัตวแพทย์ และหากมีภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอขณะมีอาการจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคมากขึ้น 8. หากสัตว์มีอาการชักเกร็งอย่างต่อเนื่อง นานกว่า 5 นาทีหรือมีการชักซ้ำ มากกว่า 2 รอบ ภายใน 24 ชั่วโมง ควรพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

และหลังจากปฐมพยาบาลให้สัตว์เลี้ยงแล้ว ควรพาไปตรวจรักษากับสัตวแพทย์โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุและดำเนินการรักษาอาการชักอย่างต่อเนื่อง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว โรคลมชัก ต้องรักษาที่สาเหตุของโรคร่วมด้วย และจำเป็นต้องได้รับการรักษาในระยะยาว บางรายจำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่องนานเป็นปี จึงจะทำให้ควบคุมอาการได้ และทำให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต.

สพญ.วรุณทิพย์ บุณยพุทธิกุล
สัตวแพทย์ประจำคลินิกระบบประสาท รพ.สัตว์เล็ก
คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย