บทความในนิตยสารออนไลน์ The Diplomat แห่งกรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยผู้เขียน Joaoda Cruz Cardoso กล่าวว่าการที่ติมอร์ตะวันออก “งดออกเสียง” ในการลงมติ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้ประณามรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ต้นปีนี้ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากหลายฝ่าย รวมถึงอดีตประธานาธิบดี โฮเซ รามอส ฮอร์ตา ผู้นำคนแรกของติมอร์ตะวันออก ซึ่งกล่าวว่า เป็นการออกเสียงที่ “น่าอับอาย”

ส่วนมาเรียโน ซาบิโน หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ฝ่ายค้านของติมอร์ตะวันออก กล่าวว่า รัฐบาลมองข้ามการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งคล้ายการกับปราบปรามนองเลือดของทหารกองทัพอินโดนีเซีย หลังยึดครองและผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออก เป็นจังหวัดที่ 27 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2518

ตลอดระยะเวลาหลายปี นับตั้งแต่แสดงความตั้งใจเข้าร่วมกลุ่มอาเซียน ดูเหมือนติมอร์ตะวันออกจะยึดแนวทางไม่เผชิญหน้า (non-confrontation) เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งการงดออกเสียงมติประณามรัฐบาลทหารเมียนมาคือตัวอย่าง รัฐบาลดิลีคงคิดว่าการทำให้เมียนมา (หรือประเทศใดประเทศหนึ่งของอาเซียน) ไม่พอใจ อาจทำให้การเข้าร่วมกลุ่มอาเซียนล้มเหลว

นอกจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเมืองในภูมิภาคแล้ว สิ่งที่ทำให้ติมอร์ตะวันออกปรารถนาจะเข้าร่วมภาคีกับอาเซียน ก็คือโอกาสที่จะได้เข้าถึงตลาดอาเซียน ครอบคลุมประชากร 667.4 ล้านคน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศได้เป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมา ติมอร์ตะวันออกมีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจ ใกล้ชิดกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย โดยจากข้อมูลของทางการติมอร์ตะวันออก ใช้เงินประมาณ 2,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (66,545ล้านบาท) นำเข้าสินค้าระหว่างปี 2559 – 2562 กว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าว เป็นการสั่งซื้อสินค้าจาก 5 ประเทศอาเซียนที่กล่าวมา

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ติมอร์ตะวันออกส่งออกสินค้าและบริการไปยังอาเซียน รวมมูลมูลค่าเพียงแค่ 95ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,085ล้านบาท) แสดงให้เห็นถึงขาดดุลการค้ากับอาเซียนหลายเท่า

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ติมอร์ตะวันออกมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ในการเข้าร่วมกลุ่มอาเซียน หากมองในแง่เศรษฐกิจ อัตราเติบโตของจีดีพีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ระหว่างปี 2559 – 2561 ค่าเฉลี่ย 5.3% เทียบอินโดนีเซีย 5.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนมาเลเซีย 5.0% ฟิลิปปินส์ 6.6% เวียดนาม 6.6% และไทย 3.4%

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของติมอร์ตะวันออก ซึ่งมีประชากรทั้งประเทศล่าสุดที่ 1,347,131 มีความคืบหน้าโดดเด่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (เอชดีไอ) สูงขึ้นจาก 0.484 ในปี 2553 มาอยู่ที่ 0.606 ในปี 2562 อัตราประชากรรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ อยู่ที่ 84% ในปี 2558 จาก 46% ในปี 2547 และอัตราเด็กเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 4.6% ในปี 2553 อยู่ที่ 9% ในปี 2558

ระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศของติมอร์ตะวันออกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในภาคการคมนาคมขนส่งการก่อสร้าง ถนนหนทางช่วยลดเวลาการเดินทาง และปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ส่วนภาคพลังงาน ประชากรประมาณ 80% เข้าถึงกระแสไฟฟ้า ในปี2560 และ 75% ของบ้านเรือนประชาชนทั่วไป เข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาดปลอดภัย ในปี2558

ส่วนข้อบกพร่องก็มีหลายประการ โดยเฉพาะ 2 ข้อหลักคือ ติมอร์ตะวันออกยังต้องพึ่งพารายได้ จากน้ำมันและก๊าซเป็นอย่างมาก ส่วนภาคการเกษตร ซึ่งจ้างงานประมาณ 80% ของทัพแรงงานทั้งประเทศ “ยังด้อยพัฒนามาก”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES