กรมการขนส่งทางราง (ขร.)  ประกาศเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟฟ้า 4 สถานี  โดยอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2 / 2564  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้าบางแห่งที่เป็นประเด็นโดยมีมติเห็นชอบกำหนดชื่อสถานีภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ดังนี้   

1. สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู วัดชลประทาน กำหนดชื่อเป็นกรมชลประทาน (Royal Irrigation Department) เนื่องจากที่ตั้งอยู่หน้ากรมชลประทาน  2. สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู สินแพทย์  เป็น  รามอินทรา กม.9  (Ram Inthra Kor Mor 9) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเรียกย่านดังกล่าว   3. สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผ่านฟ้า เป็นสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  (Democracy Monument) เช่นเดียวกับ สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับแลนด์มาร์ก( Landmark)  และเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กันในระยะเดินถึง

4.  สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง  วงเวียนใหญ่เหนือ เป็นสถานีวงเวียนใหญ่ (Wongwian Yai) เพื่อให้สอดคล้องกับแลนด์มาร์ก และ 5. สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พัฒนาการ เป็น หัวหมาก (Hua Mak)  เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวหมาก และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมากในระยะประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งเป็นระยะเดินถึงและเป็นย่านที่ประชาชนคุ้นชินแล้ว ควรใช้ชื่อเดียวกันเพื่อลดความสับสนของผู้ใช้บริการ โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ได้กำหนดรหัสสีของเส้นทางรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นเอกภาพ ใช้เป็นมาตรฐานจัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบสอดคล้องกัน  โดยให้ใช้รหัสสีตามที่หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดไว้เดิม เช่น สายสีเขียว ทอง เทาให้ยึดตามรหัสสีของ กรุงเทพมหานครนคร(ทม.) /บีทีเอส สายสีน้ำเงิน ม่วง ส้ม เหลือง ชมพู ยึดตามรหัสสีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.)  สายสีแดง ให้ยึดตามรหัสสีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.)   

กรณีรหัสสีของเส้นทางระบบรางในอนาคต ให้หลีกเลี่ยงการใช้สีที่ใกล้เคียงกับสีที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาจะเห็นเลือนราง หากหลีกเลี่ยงการใช้สีซ้ำหรือใกล้เคียงกันไม่ได้ ควรกำหนดชื่อเส้นทางประกอบกับรหัสสี เพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้บริการเข้าใจโดยเห็นสมควรให้หน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางเสนอ ขร. พิจารณา เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการจริง

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)  อธิบายเพิ่มเติมว่า  เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการฯครั้งที่ 1 ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลการให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละโครงการที่แตกต่างกันเพื่อกำหนดหลักการตั้งชื่อสถานีและกำหนดรหัสสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ ดังนี้  1.ง่าย ชื่อสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเป็นชื่อที่ง่าย และจดจำได้ง่าย 2. สั้น กระชับ  ได้ใจความโดยชื่อภาษาไทยควรมีความยาว ไม่เกิน 5 พยางค์และชื่อภาษาอังกฤษควรใช้ตัวอักษรไม่เกิน 15 ตัวอักษร 3.มีความยั่งยืน ใช้ได้อย่างตลอดระยะเวลาที่สถานียังคงเปิดให้บริการอยู่

4.สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ต้องเอื้อให้ผู้เดินทางระบุตำแหน่ง หรือบริเวณที่ตั้งของสถานีได้อย่างชัดเจน และควรมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งสถานี   5.เฉพาะเจาะจง ชื่อต้องไม่ซ้ำกัน หรือสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ และ 6.มีความเชื่อมโยงกัน ต้องสร้างความเชื่อมโยงไปใช้ในการวางแผนการเดินทางได้ โดยเฉพาะชื่อสถานีที่เป็นสถานีเชื่อมต่อ ควรใช้ชื่อเดียวกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยระบุความแตกต่างของเส้นทางโดยรหัสสถานี ซึ่งการกำหนดสถานีในประเทศไทยจะยึดหลักการเดียวกับหลักการของสากลมีทั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

รวมทั้งคำประกาศภายในขบวนรถเพื่อแจ้งจุดเชื่อมต่อสถานี รูปแบบป้ายสัญลักษณ์ รหัสสีกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้า ให้มีความเป็นมาตรฐานกลาง ลดความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้หน่วยงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นกรอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นในอนาคตด้วย

ปัจจุบันในกรุงเทพฯและปริมณฑลเปิดบริการรถไฟฟ้าแล้ว 5 สี  11 เส้นทาง ระยะทางรวม 211.94กม. 141 สถานี อยู่ระหว่างก่อสร้างและกำลังจะสร้างอีก 343 กม. กว่า 300 สถานี   จะทยอยเสร็จและเปิดบริการตั้งแต่ปี 65-70 กรุงเทพฯจะกลายเป็นมหานครระบบรางติดท็อปไฟว์ของโลก ….การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานสากล ไม่สับสน  จึงสำคัญฉะนี้

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง