ในปี พ.ศ. 2538 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ยอมรับมติที่ 49/114 โดยประกาศให้วันที่ 16 กันยายน ของทุกปี เป็น วันพิทักษ์ชั้นโอโซนสากล (International Day for the Preservation of the Ozone Layer) เพื่อเป็นที่รำลึกถึงวันที่มีการลงนามในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายโอโซน (Montreal Protocol) ในปี ค.ศ.1987 และเชิญชวนประเทศต่างๆ อุทิศวันนี้เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ในระดับประเทศที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพิธีสารมอนทรีออล และที่มีการแก้ไขต่างๆ

สำหรับประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 

โอโซน (OZONE) เกิดจากธรรมชาติ เป็นก๊าซสีน้ำเงินที่พบเป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศของโลก มีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นเกราะช่วยป้องกัน กรองรังสีต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ให้เข้าสู่โลกของเรา โดยเฉพาะรังสียูวีบี

ปัจจุบันนี้ โลกได้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมาย จนทำให้เกิดสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งก็คือ สารเคมีที่มีองค์ประกอบพื้นฐานอย่าง คลอรีน ฟลูออรีน หรือโบรมีน ซึ่งมีศักยภาพในการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศให้เกิดการแตกตัว สารทำลายโอโซนที่เรารู้จักกันดีก็คือ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ สารซีเอฟซี (CFCs) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศรถยนต์ ตู้เย็น ตู้แช่ เป็นต้น ส่วนสารทดแทนสารซีเอฟซี คือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ เอชซีเอฟซี (HCFCs) ใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศ และการผลิตโฟม ซึ่งยังคงเป็นสารทำลายโอโซนเช่นเดียวกัน แม้จะในปริมาณน้อยกว่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม โอโซน ถือเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมทั้งทำลายกลิ่นสารเคมี และก๊าซพิษได้ดีเยี่ยม อีกทั้งไม่ทิ้งพิษตกค้าง เพราะเมื่อทำปฏิกิริยากับมลพิษเสร็จทุกครั้ง จะได้ออกซิเจน (O2) จึงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี

แม้จะมีสนธิสัญญาเพื่อลดและเลิกการใช้สาร CFC แล้ว แต่สาร CFC ยังจำเป็นต่ออุตสาหกรรมบางชนิด จึงยังมีการใช้ CFC กันอยู่ต่อไป ก๊าซโอโซนก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบเป็นภาวะโลกร้อนอย่างที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลกจะสามารถช่วยลดสาร CFC ได้โดย

  • เลือกซื้อ และใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs
  • หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้าน
  • ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ปล่อยสาร CFC ที่จะออกมาทำลายชั้นโอโซนได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนตู้เย็นที่ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่เปิดตู้เย็นบ่อย เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก
  • เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟมทั้งหลาย ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย