ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญสงครามอย่างอัฟกานิสถาน บอกได้เลยว่าขั้นวิกฤติ และยังมีวิกฤติเพื่อมนุษยธรรมอีกด้วย

แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นดูเหมือนว่าจะยังไม่ให้ทุนกับตาลีบัน จนกว่ากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงจะให้คำมั่นชัดเจนว่า จะยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิสตรี

ขณะเดียวกัน สินทรัพย์ในต่างประเทศของอัฟกานิสถานซึ่งมีอยู่ราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฝากไว้ในต่างประเทศนั้น ถูกอายัดอยู่ในขณะนี้

เดบราห์ ลีอองส์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่ออัฟกานิสถาน บอกในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า จุดประสงค์ที่เข้าใจได้ก็คือไม่ให้เงินทุนกับรัฐบาลตาลีบัน ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ จะส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างหนักกับอัฟกานิสถาน ซึ่งอาจทำให้คนอีกหลายล้านคนต้องอดอยากและหิวโหย อาจส่งผลกระทบเป็นคลื่นอพยพ ให้คนหนีออกจากอัฟกานิสถาน และทำให้ประเทศต้องล้าหลัง

ผลกระทบอีกอย่างก็คือ จะยิ่งผลักดันให้อัฟกานิสถานต้องไปผูกสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างปากีสถานและจีน ซึ่งได้จัดส่งความช่วยเหลือส่งมาทางเครื่องบินให้กับอัฟกานิสถาน และยังส่งสัญญาณว่าเปิดกว้างที่จะสานต่อพันธกรณี

Al Jazeera English

จีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะส่งความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุขมูลค่า 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับอัฟกานิสถาน ถือเป็นกลุ่มความช่วยเหลือชุดแรกของต่างชาติ นับตั้งแต่ตาลีบันเข้าครองอำนาจ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนปากีสถานเอง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ส่งเครื่องอุปโภคเช่น น้ำมันปรุงอาหารและเวชภัณฑ์ไปให้เจ้าหน้าที่ในกรุงคาบูล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานยังเรียกร้อง ให้ประชาคมโลกส่งมอบความช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกการอายัดทรัพย์ของอัฟกานิสถาน

เดิมทีนั้นปากีสถานมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตาลีบัน เพราะเคยถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนตาลีบันในการทำวงครามต่อสู้กับรัฐบาลคาบูล ที่สหรัฐให้การหนุนหลังมานาน 20 ปี แต่ข้อกล่าวหานี้รัฐบาลปากีสถานปฏิเสธเด็ดขาด ว่าไม่เป็นความจริง

ขณะที่จีนก็มีความเป็นพันธมิตรกับปากีสถาน และมีพันธกรณีกับตาลีบันเหมือน ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่า ตาลีบันเสนอที่จะให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจเหมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิเทียมชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า นอกจากนั้นแล้ว จีนยังห่วงในเรื่องกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งอาจกระจายไปทั่วข้ามเขตแดนของอัฟกานิสถานเข้ามา จึงหวังว่าตาลีบันจะช่วยควบคุมเรื่องนี้ให้ด้วย

นอกเหนือจากความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่บางคนในภูมิภาคนี้บอกว่า ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางโครงการของรัฐบาลจีน จะช่วยให้อัฟกานิสถานอยู่รอดในทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

หนึ่งในความเป็นไปได้ก็คือ อัฟกานิสถานเข้าร่วมระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) หนึ่งในแกนหลักของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลปักกิ่งให้คำมั่น กับโครงการสาธารณูปโภคมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบเงินกู้ “รัสตัม ชาห์ โมฮัมหมัด” อดีตทูตปากีสถานประจำอัฟกานิสถานบอกว่า ตาลีบันจะยินดีเข้าร่วมระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งทางจีนก็จะมีความสุขอย่างมาก

แม้จีนยังไม่ได้แสดงความเห็นอะไร เรื่องข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แต่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ บอกว่ารัฐบาลปักกิ่งพร้อมที่จะหารือ เรื่องการรื้อฟื้นเส้นทางขนส่งทางรถไฟจีน-อัฟกานิสถาน และอำนวยความสะดวกในการสร้างปฏิสัมพันธ์ของอัฟกานิสถานกับโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม

ผู้นำตาลีบันเคยกล่าวไว้หลายสัปดาห์แล้วว่า ตาลีบันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แหล่งข่าวตาลีบันยังบอกอีกว่า เคยมีการหารือกับจีนมาแล้วที่กรุงโดฮา กาตาร์ ในเรื่องโอกาสการลงทุน ซึ่งจีนแสดงความสนใจในเรื่องการทำเหมือง แต่การทำธุรกิจในส่วนนี้ต้องมีการเปิดประมูล อย่างไรก็ตาม ตาลีบันยินดีรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออัฟกานิสถาน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS