เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศรายงานสมุดปกขาวว่าด้วย “สร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้าน: ความรุ่งโรจน์ของกระบวนการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของจีน” ย้ำชัด “จีนให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บนเส้นทางการพัฒนาประเทศสู่ความรุ่งโรจน์ของจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยึดมั่นในหลักการประชาชนเป็นใหญ่ และได้สร้างหนทางการการพัฒนาสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของจีน ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของจีนได้เขียนบทใหม่ให้กับประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชน  สวนทางกับภาพลักษณ์ที่ถูกตีตราจากสหรัฐฯและชาติตะวันตกซึ่งมักหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีและกดดันจีนอย่างต่อเนื่อง   

ในความเป็นจริง หลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาของประชาชนในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายของการพัฒนาสิทธิมนุษยชน จีนส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ดำเนินการปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างชัดเจน   

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง สิทธิในทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิในการทำงานได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลตัวเลขชุดหนึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้ช่วยให้ประชาชนกว่า 770 ล้านคนในชนบทหลุดพ้นจากความยากจน บรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนเร็วกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปี ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติถึง 10 ปี, อายุขัยเฉลี่ยของประชากรจีนเพิ่มขึ้นจาก 67.8 ปี ในปี 1981 เป็น 77.3 ปี ในปี 2019, อัตราการตายของทารกลดลงจาก 37.6% ในระยะแรกของการปฏิรูปเปิดประเทศเป็น 5.4% ในปี 2020, GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 385 หยวนในปี 1978 เป็น 72,000 หยวนในปี 2020,  รายได้สุทธิต่อหัวของประชากรในปี 2020 อยู่ที่ 32,189 หยวน, ปี 2020 อัตราผู้ที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีเมื่อเทียบกับผู้เข้าเรียนอยู่ที่ 95.2%  ระดับและความครอบคลุมของการได้รับการศึกษาภาคบังคับเทียบเท่าได้กับค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้สูงของโลก อัตราการเข้ารับการศึกษาภาคบังคับของเยาวชนผู้พิการอยู่ที่ระดับสูงกว่า 95% สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนได้พยายามใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน และยืนหยัดในการส่งเสริมการพัฒนาสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านต่อเนื่อง

การผงาดขึ้นสู่อำนาจของจีนอาจสร้างความวิตกกังวลให้กับชาติตะวันตกบางประเทศ  ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาติตะวันตกได้ใช้ข้ออ้างด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือโจมตีจีนอยู่บ่อยครั้ง เช่น ข้อกล่าวหาที่สหรัฐอ้างว่าจีนกดขี่แรงงานชาวอุยกูร์ และอ้างว่าจีนมีเจตนาที่จะกวาดล้างชาติพันธุ์อุยกูร์ในซินเจียง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประชากรชาวอุยกูร์ได้เพิ่มขึ้นจาก 10.1715 ล้านคน เป็น 12.7184 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นายไพศาล พืชมงคล ผู้เชี่ยวชาญประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ รองประธานและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวถึงกรณีที่ชาติตะวันตกใช้ประเด็นซินเจียงเพื่อโจมตีจีน ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ CRI (China Radio Internatianal) ว่า กองกำลังตะวันตกมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านการสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในประเทศอื่น ๆ ขณะที่ข่าวลือเกี่ยวกับซินเจียงล้วนเป็นการใส่ร้ายที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ นายไพศาล มองว่า นโยบายด้านชนเผ่าของจีนประสบความสำเร็จอย่างมาก 56 ชนเผ่าอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี ประชาชนทุกชนเผ่าพร้อมใจกันสร้างประเทศ เศรษฐกิจในพื้นที่ของชนเผ่าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองกำลังภายนอกบางส่วนต้องการโฆษณาเกินจริงสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาซินเจียง” เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีนและรัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยให้การสมคบคิดนี้สำเร็จอย่างแน่นอน

ด้านนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัว ถึงความสำเร็จในการพัฒนาของจีน โดยกล่าวว่า จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรมากมาย เคยตกอยู่ในภาวะยากจนเป็นเวลายาวนาน แต่รัฐบาลจีนได้ขจัดความยากจนอย่างสิ้นเชิงด้วยความสำเร็จ และนำพาประชาชาติจีนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 จีนในยุคปัจจุบัน มีความนำหน้าในหลายๆด้านในโลก โดยเฉพาะการวิจัยวัคซีนโควิดก็มีความก้าวหน้า แต่เมื่อจีนแข็งแกร่งขึ้น ประเทศตะวันตกกลับมองจีนเป็นคู่แข่ง มองจีนแบบไม่เป็นมิตร โจมตีจีนโดยอ้างเรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

นายพินิจกล่าวว่า “ตนเองเคยเดินทางไปเขตซินเจียง ชาวซินเจียงมีไมตรีจิต ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย มีความสุขและความพอใจมากๆ ไม่เห็นมีใครถูกกดขี่ เห็นแต่ความจริงที่รัฐบาลจีนพยายามสร้างชลประทานและสิ่งปลูกสร้างขั้นพื้นฐานด้านการผลิตไฟฟ้าให้ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนท้องถิ่นให้สูงขึ้น”

ด้านดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาไทยและประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว People’s Daily โดยกล่าวว่า เมื่อ100 ปีก่อน  จีนตกอยู่ในภาวะยากจนและอ่อนแอมาก  แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้จิตวิญญาณที่มีความภาคภูมิใจ กล้าหาญ  และเสียสละ  ในการขจัดความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ เพื่อประเทศชาติ  นำประชาชนจีนไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศที่ทั่วโลกจับตามอง

ดร.โภคิน ยังกล่าวอีกว่า  พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือการขจัดความยากจนเป็นภารกิจสำคัญ และได้พิจารณาประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความยากจน  เช่น วิธีการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน  วิธีการประเมินและขยายความสำเร็จในการบรรเทาความยากจน ท้ายที่สุดรัฐบาลจีนก็ได้ดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนยากจนที่สามารถตอบโจทย์ได้  หลังจากใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี ประชาชนในพื้นที่ชนบทเกือบ 100 ล้านคนในประเทศจีนสามารถหลุดพ้นจากความยากจน ถือเป็นการสร้างคุณูปการแก่การสร้างสังคมพอกินพอใช้รอบด้าน  และความสำเร็จเช่นนี้ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก