หนึ่งในนั้นพุ่งเป้าลูกหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์บังคับคดีแล้ว 46,458 คดี ทุนทรัพย์ 6,680,717,342.68 บาท โดยเปิดโอกาสให้ยื่น“หนังสือยินยอมงดการบังคับคดี” เพื่องดการขายทอดตลาด

ขั้นตอนยื่นความยินยอมสำคัญต่อการแก้ปัญหาแค่ไหน เหตุใดลูกหนี้ไม่ควรละทิ้งโอกาส“ทีมข่าวอาชญากรรม”ไขข้อสงสัยกับ นางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี ในฐานะโฆษกกรมบังคับคดี ซึ่งย้ำว่าหากถูกบังคับคดีทอดตลาดออกไปทุกอย่างจะหลุดหมด กระบวนการที่กยศ.ให้งดบังคับไว้ก่อน เป็นไปตามมาตรา 289 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ. 2560 ส่วนที่ 8 การงดการบังคับคดี(3) ระบุว่า

เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี

ดังนั้น จำเป็นต้องใช้ความยินยอมของลูกหนี้และผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากคดีมีลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่หากทรัพย์ติดจำนอง บุคคลนั้นจะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ต้องทำหนังสือยินยอมให้คนเหล่านี้ให้ครบถ้วนก่อน ทั้งในส่วนที่ประกาศขายไปแล้ว หรือสำนวนที่ยึดไว้แต่ยังไม่ประกาศขายจะมีหนังสือแจ้งไกล่เกลี่ย หรือชะลอไว้

อย่างไรก็ตาม การมีหนังสือยินยอมไม่ได้หมายความว่าจะได้รับ“สิทธิประโยชน์”การ“คำนวณยอดหนี้ใหม่” แต่เป็นกระบวนการในชั้นบังคับคดี เพื่อให้งดไว้ก่อน ขั้นตอนสิทธิประโยชน์เป็นบทบาทกยศ. โดยหลังงดบังคับคดีแล้วจะหารือกยศ.เพื่อช่วยแถลงภาระหนี้ตามกฎหมายใหม่ เนื่องจากบางสำนวนที่ยึด หรือสำนวนที่มีขายทอดตลาดไปก่อนกยศ.มีหนังสือแจ้ง กรมบังคับคดีก็จะยังไม่ทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน

เนื่องจากหนี้ที่บังคับคดีคำนวณไว้ที่ผ่านมา เป็นการทำตามคำพิพากษาศาล ซึ่งจะมียอดหนี้ เงินต้นค้างชำระ เบี้ยปรับ หรือดอกเบี้ยที่ตัวเลขสูงกว่าตามกฎหมายใหม่

หากจะให้คำนวณตามกฏหมายใหม่ทันทีคงไม่ได้ เนื่องจากกรมบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องดำเนินการตามหมายคดีที่มีคำพิพากษา จึงต้องคิดคำนวณตามคำพิพากษาก่อน ซึ่งการคำนวณตามคำพิพากษาของศาล อาจทำให้ดูเหมือนลูกหนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม นี่จึงเป็นเหตุให้มีหนังสือไปยัง กยศ. เพื่อให้แถลงภาระหนี้ปัจจุบันทั้งหมดว่าเบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี หรือบางกรณีลูกหนี้อาจได้รับเบี้ยปรับลดเหลือ 0.1% ต่อปีไปแล้ว

ส่วนข้อสังเกตการยื่นคำร้องที่ยังไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมานั้น นางเพ็ญรวี ชี้แจงว่า ในจำนวนกว่า 4.6 หมื่นราย ต้องแยกให้ชัดเจนว่าลูกหนี้ กยศ. บางส่วนอาจอยู่ระหว่างการจ่ายค่าปรับชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว หรือบางส่วนอยู่ในสำนวนเข้าขั้นตอนงดบังคับคดีไปก่อนหน้า หรือลูกหนี้อาจไม่กังวล และประสงค์ให้ขายทอดทรัพย์สินไปก่อน ค่อยซื้อคืน

เนื่องจากต้องยอมรับว่าการยึดทรัพย์ไปแล้ว แล้วทรัพย์นั้นติดจำนอง หากขายโดยจำนองติดไปราคาจะถูก ลูกหนี้บางส่วนจึงขอรอซื้อคืนจากการขายทอดตลาดแทน

นางเพ็ญรวี เผยอุปสรรคการประสานลูกหนี้คือกรณีที่ลูกหนี้มีลักษณะ“ไม่ถึงที่สุด”ก็จะไม่ยอมพบ หรือพูดคุยกับเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่น พรุ่งนี้จะขายทอดตลาด หรือขายไปแล้วทราบภายหลังว่าตัวเองจะถูกไล่ก็ยังไม่มาพูดคุย และบางส่วนก็มักไม่ให้ความสนใจหนังสือ หรือเอกสารราชการที่ส่งไป

“ตรงนี้เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญมาก เพราะจะมีรายละเอียดข้อมูล หรือสิทธิประโยชน์ หรือทางเลือกอื่นที่ลูกหนี้จะสามารถใช้พิจารณาหรือวางแผนจัดเตรียมได้”

สำหรับ“ผู้ค้ำประกัน” เมื่อลูกหนี้ยินยอมงดการบังคับคดี และกยศ.มีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ผู้ค้ำประกันก็จะ“หลุดพ้นภาระ”โดยทันที ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อกยศ.แถลงภาระหนี้ทั้งหมด และประกาศหลักเกณฑ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามกฏหมายใหม่ให้ความสำคัญกับการกู้ กยศ.ว่าไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกแล้ว ทั้งยังให้ประโยชน์ ให้ความคุ้มครองลูกหนี้ก่อนหน้านี้ คือ ในกรณีผู้ค้ำประกันพบว่าลูกหนี้เสียชีวิต หรือถูกพิพากษาให้ล้มละลาย “ผู้ค้ำประกัน”จะหลุดพ้นภาระโดยทันทีเช่นกัน

จนถึงวันนี้กรมบังคับคดี ยังไม่มีกรอบเวลาปิดรับการยื่นหนังสือยินยอมงดการบังคับคดี ซึ่งเปิดช่องไว้เป็นทางเลือก ไม่ให้ไปถึงทางตัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]