คดีที่ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ตกเป็นผู้ต้องหาจากพฤติกรรมต้องสงสัยลอบใช้ “ไซยาไนด์” (Cyanide) กับคนใกล้ชิด ล้างประสงค์ต่อทรัพย์ บ้างล้างหนี้ จนมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องหลายราย กลายเป็นคดีสุดช็อคคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะการขยายผลผู้ต้องสงสัยตกเป็นเหยื่อรายแล้วรายเล่า ขณะที่ผู้ต้องหายืนกรานไม่รับสารภาพ

จำนวนเหยื่อกับจำนวนโทษคดีนี้ จึงกลายเป็นอีกประเด็นสงสัยที่หลายคนกังวล ท่ามกลางเหยื่อ “หลายราย” กับผู้กระทำผิด “ชีวิตเดียว”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถาม นายศีรวิษ สุขชัย ในฐานะทนายความ เจ้าของเพจทนายเบียร์ศีขี้ฟ้อง ให้ความเห็นว่า ศาลอาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งก่อนๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสีย เพื่อพิสูจน์ความผิดในครั้งนี้ได้

ถ้าพยานหลักฐานนั้นแสดงถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะ กล่าวคือการให้รับประทานอาหารต่างๆ ที่มีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษอย่างรุนแรงผสมอยู่ ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2

การกระทำดังกล่าวจึงมีความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดให้ “ประหารชีวิต” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ซึ่งโทษประหารชีวิตจากเดิมใช้วิธี “ยิงเป้า” แต่กฎหมายอาญาปี 2546 แก้ไขว่า ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธี “ฉีดยา” หรือสารพิษให้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19

เมื่อผู้ต้องหาตั้งครรภ์ในระหว่างพิจารณา ตามกฎหมายถ้าหญิงมีครรภ์ต้องโทษประหารชีวิต ให้รอไว้จนพ้นกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต เว้นแต่บุตรตายก่อนพ้นกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 247 วรรคสอง แต่ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณากว่าจะมีคำพิพากษา อาจคลอดบุตรก่อนมีคำพิพากษาให้ต้องโทษประหารชีวิต ซึ่งไม่เข้าเหตุ “ลดโทษ” เหลือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดนั้น เป็นการกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เป็นการกระทำโดยทุจริต หรือเพื่ออำพรางคดีผู้กระทำ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษ ที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ วรรคสอง

ระหว่างอยู่ช่วงการดำเนินคดีนั้น เมื่อมีญาติผู้เสียหายเพิ่มขึ้นและสงสัยว่าผู้ต้องหาได้ฆ่าผู้เสียหาย โดยมีพฤติการณ์คล้ายที่ปรากฏตามข่าว หากมีพยานหลักฐานสามารถพิสูจน์ความผิดที่ได้กระทำต่อผู้เสียหาย

ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตาย สามารถจัดการดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(2)

การกระทำของผู้ต้องหาขณะนี้ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ จึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หากศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต เมื่อโทษสูงสุดของฐานความผิดดังกล่าวนี้คือ โทษประหารชีวิตแล้ว กรณีโทษประหารชีวิต จึงไม่สามารถขอเพิ่มโทษได้อีก

ยกตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2515 ฟ้องโจทก์ขอให้บวกโทษที่รอไว้เข้ากับโทษในคดีนี้ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้ว แม้ว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ออกใช้บังคับ ซึ่งข้อ 1 ของประกาศดังกล่าว ได้ยกเลิกความในมาตรา 51 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งข้อความที่บัญญัติใหม่มีผลให้ “เพิ่มโทษ” หรือ “บวกโทษ” แก่จำเลยได้ก็ตาม

แต่บทบัญญัติที่ประกาศใช้ในภายหลังนี้ หา “เป็นคุณ” แก่จำเลยไม่ จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]