อย่างไรก็ดีสถานการณ์โควิดในมาเลเซีย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 21 ก.ย.ก็ยังสูงวันละ 14,954 ราย เสียชีวิต 376 ราย (ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 2,097,830 และยอดรวมผู้เสียชีวิต 23,443) จัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลกจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดประจำวัน ส่วนไทยอยู่อันดับ 9

ผลพวงจากการบริหารโควิดล้มเหลว

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุย ดร.ฮาฟีส สาและ หัวหน้าศูนย์สมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีมุมมองถึงเรื่องนี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย มีผลอย่างมากต่อการเมือง จนส่งผลให้เกิดการกดดันรัฐบาลชุดก่อน ที่ไม่สามารถขยับตัวหรือเล่นเกมการเมืองได้อย่างที่วางไว้  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำได้ตอนนี้นอกจากการแก้ปัญหาโควิด ที่แพร่ระบาดอยู่แล้ว จะต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 

ปัญหาใหญ่ช่วงแรกที่ไม่สามารถควบคุมตัวเลขการระบาดของโควิดที่พุ่งสูงได้ เพราะมาเลเซีย ขาดมาตรการการตรวจเชื้อที่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน รวมถึงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์พอคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการควบคุมกับภาคอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ในโรงงานและที่พักแรงงาน ทำให้ทุกฝ่ายมองว่าการล็อกดาวน์ล้มเหลว ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข เพราะไม่สามารถรับมือกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะรับมือไหว

มุมกลับกันถ้าดูท่าทีฝ่ายค้านของมาเลเซีย ก็ไม่ได้แสดงท่าทีซ้ำเติมกับปัญหาของโรคระบาดที่รัฐบาลบริหารผิดพลาด ในแง่ของการเมืองก็ปล่อยให้รัฐบาลเดินพลาดสะดุดขาตัวเอง ดีกว่าจะซ้ำเติมปัญหา เช่นเดียวกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม ภายใต้สถานการณ์นี้ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กลับแสดงท่าทีว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระราชาธิบดี แห่งมาเลเซีย ก็ทรงได้ให้ความเห็นถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีคนเก่าลาออก แต่ด้วยสภาวะการแพร่ระบาดโควิดทางออกจึงยังไม่ใช่การเลือกตั้ง เพราะการถ้าจัดการเลือกตั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งจะมีความเสี่ยงขึ้นไปอีก

สปิริตผู้นำลาออกแสดงความรับผิดชอบ

ดร.ฮาฟีส กล่าวต่อว่า ถ้ามองเปรียบเทียบบริบททางการเมืองของมาเลเซีย เมื่อเทียบกับไทย แตกต่างกันค่อนข้างมาก แม้พรรคอัมโน จะครองตำแหน่งทางการเมืองมายาวนานในมาเลเซีย แต่การแพร่ระบาดของโควิดก็ทำให้ฐานของอำนาจสั่นคลอน จึงพยายามหาหนทางทำอย่างไรให้อยู่ในอำนาจได้ต่อ โดยสิ่งที่แตกต่างจากการเมืองไทยคือ นักการเมืองมาเลเซียยังเคารพกติกา พอเสียงข้างมากในสภาลดลงจนขาดผู้สนับสนุน พรรคการเมืองก็ไม่ได้ดันทุรัง เช่นเดียวกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองต่างก็ยืนหยัดอยู่บนฐานของกฎหมาย และกฎระเบียบตามรัฐธรรมนูญ แม้เจอวิกฤติจากโควิด จนส่งผลต่อการเมือง แต่ไม่ได้วุ่นวายเหมือนกับไทยจนทำให้กฎกติกามันบิดเบี้ยวไปหมด

สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดในมาเลเซีย ที่ผ่านมาในช่วงแรกหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งรับไม่ทันทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากไทยที่ช่วงแรกควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่พอมาช่วงหลัง ๆ ด้วยความที่อำนาจจากส่วนกลางที่ยังไม่มีความชัดเจน เลยทำให้คนทำงานในท้องถิ่นไม่รู้จะปฏิบัติตนเองอย่างไรในท่ามกลางการแพร่ระบาด เลยทำให้การจัดการโควิดของไทย ในช่วงหลังหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เริ่มจะมีส่วนร่วมน้อย ผิดจากการแพร่ระบาดช่วงแรก ที่เข้ามาช่วยอย่างเป็นระบบ แต่ในช่วงหลังก็รอเพียงการสั่งการจากส่วนกลาง

หากมองการเมืองมาเลเซีย หลังนายมูห์ยิดดิน ยาสซิน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ได้นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เดินหน้าแก้ปัญหาใหญ่คือโควิดซึ่งก็ยังไม่มีนโยบายที่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากเดิมก็เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลชุดก่อนอยู่แล้ว ตอนนี้เป็นเหมือนการรักษาสถานภาพรัฐบาลให้อยู่ได้ไปจนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ฝั่งรัฐบาลเองก็ขาดผู้นำที่จะนำการเปลี่ยน แปลง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

ลุยแก้โควิดระบาดสางปมเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริต ที่ประชาชนมาเลเซีย มีคำถามมาตั้งแต่นายกฯ คนก่อน ซึ่งกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น เป็นกลุ่มที่ถอนการสนับสนุน นายมูห์ยิดดิน ยาสซินแต่ในสถานการณ์ของนายกฯ ใหม่ ก็ไม่ได้มีท่าทีอยู่กลุ่มเดียวกับนักการเมืองฝั่งรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่าจะเน้นการจัดการในเรื่องการแพร่ระบาดโควิด กับปัญหาเศรษฐกิจก่อน  

ในส่วนของความสัมพันธ์กับไทยตามแนวชายแดนและการค้าต่าง ๆ ไม่น่าจะส่งผลกระทบมาก เพราะไทยและมาเลเซีย มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันอย่างมาก แม้มีปัญหาความไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย แต่ความสัมพันธ์ของชาวบ้านทั้ง 2 ประเทศ มีความแนบแน่น ซึ่งรวมไปถึงความร่วมมือกันในระดับองค์กรท้องถิ่น อาจไม่มีท่าทีอะไรที่ใหม่ไปจากเดิม เพราะปัญหาภายในประเทศเองก็เยอะอยู่แล้ว และเวลาในการเลือกตั้งของปีหน้าก็ใกล้เข้ามาทุกที ซึ่งถ้านายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ได้อยู่ในตำแหน่งยาวนาน เราอาจได้เห็นบทบาทการเจรจาที่เปลี่ยนไปกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในทางภาคใต้ของไทย

อย่างไรก็ดีการลาออกของนายมูห์ยิดดิน ยาสซิน ทำให้เห็นถึงสปิริตของผู้นำ ทุกฝ่ายก็มองและเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ลาออกเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการกระทำของนักการเมืองในภาวะวิกฤติก็ไม่ได้ย้อนแย้งจากสิ่งที่เขาพูด แม้จะมีเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองบ้าง แต่ประชาชนรู้สึกว่าภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ที่สร้างความหดหู่ให้กับประชาชนแล้ว ก็ไม่ต้องมาเผชิญกับปัญหาทางการเมืองอีก เช่นเดียวกับท่าทีของฝ่ายค้าน ซึ่งให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของประชาชน มากกว่าการมานั่งนับเก้าอี้กันซึ่งไทยควรเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้

น่าสนใจว่าการเมืองมาเลเซีย ไม่ได้มีบทบาทของกองทัพ เข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไรนัก ทำให้ท่าทีและบทบาททางการเมืองมีความแตกต่างจากไทย เพราะเมื่อกองทัพเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองจะทำให้ความยืดหยุ่นของพรรคการเมืองเสียไป เห็นได้จากมาเลเซีย เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรสักอย่างต้องนึกถึงมติมหาชนเป็นใหญ่.