ทั้งนี้ ดร.ภญ.ฐิติพร ได้มีการระบุไว้เกี่ยวกับ “แนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” เพื่อการ “ลดปัญหาอุบัติเหตุจราจร” ที่เป็นแนวคิด-เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการ “ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร” ซึ่งในตอนนี้มาดูกันต่อ…กับ “คำถาม” ที่ตามมา คือ… จริง ๆ ไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่นำแนวคิดนี้มาใช้ แต่…“เหตุใดไทยจึงยังไม่บรรลุเป้าหมาย??”…

“มีปุจฉา” หากไทยจะบรรลุเป้าหมาย

ควรจะ “ต้องวางตัวเองอยู่ที่จุดใด??”

เรื่องนี้… “ก็มีการเสนอแนวทางไว้”…

ทาง ดร.ภญ.ฐิติพร ได้สะท้อนเพิ่มเติมไว้ในบทวิเคราะห์ว่า…ไทยก็เป็นอีกประเทศที่ได้นำแนวคิดเรื่อง “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” มาใช้ แต่สิ่งที่พบก็คือ…ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุการจราจรได้เท่าที่ควร นำสู่คำถามสำคัญที่ว่า… เป็นเพราะรัฐยังพยายามไม่มากพอ? หรือเป็นเพราะยังติดกับดักอะไร? ที่ทำให้ยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ อย่างไรก็ดี แม้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ไทยก็ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน โดยมีการตั้ง “เป้าหมาย” ไว้ว่า… ต้องมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกินอัตรา 18 ต่อประชากร 100,000 คน

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยควรดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือดำเนินงานตาม “5 เสาหลักของความปลอดภัยทางถนน” ได้แก่… 1.พัฒนาความสามารถการบริหารจัดการ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ 2.สร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้าง ทั้งถนน สภาพแวดล้อมริมทางรวมถึงการออกแบบถนน และจัดโครงข่ายถนนที่รองรับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม 3.ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยของรถ 4.สร้างวินัยจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม 5.ปรับปรุงระบบดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ …เหล่านี้คือ…

“5 เสาหลักความปลอดภัยทางถนน”

ไทยก็ทำอยู่…แต่ “จะต้องให้ดียิ่งขึ้น”

นอกจากนั้น ทาง ดร.ภญ.ฐิติพร ยังเสนอแนะเอาไว้เพิ่มเติมอีกว่า… ช่วงทศวรรษแรกของ “แผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน” ของประเทศไทย หรือในแผนฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561-2564 นั้น นอกจากจะมีแนวทางการปฏิบัติการแล้ว ก็ยังมีการประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อีกด้วย โดย ด้านการปฏิรูประบบการจัดการ พบว่า… ไทยต้องหาตัวชี้วัด เพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพื่อเป้าหมายของแผนงานในภาพรวมที่ชัดเจนมากกว่านี้ รวมถึง ต้องเร่งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการนี้

ขณะที่เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับ “ความท้าทายในภาพรวม” ตามกรอบเป้าหมายของแผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน ผลการศึกษาได้ค้นพบ “ช่องว่างของไทย” ในการดำเนินการเรื่องนี้ในหลาย ๆ กรณี ได้แก่… ขาดระบบกลไกที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนแผนเชิงบูรณาการ เช่น มีความไม่ชัดเจนในการกำหนดความรับผิดชอบ ที่ทำให้เกิดปัญหาการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน, ขาดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย ในหลาย ๆ มิติ รวมถึง ขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุในพื้นที่ของชุมชน ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ตลอดจน ขาดระบบการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ส่วน “ความท้าทายในการขับเคลื่อน” ที่ไทยยังคงต้องเผชิญอยู่ กับ “แนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” และ “แผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน” ได้แก่… ความท้าทายในการจัดทำรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายและยั่งยืน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้เดินทางที่เปราะบาง ซึ่งเป็นหัวใจของแนวคิดนี้ ที่ “ต้องค้นหาทางออก” ให้ความท้าทายนี้

อย่างไรก็ดี ดร.ภญ.ฐิติพร สุเเก้ว ได้มี “ข้อเสนอแนะ” เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน เอาไว้ดังนี้… 1.ควรเร่งรัดการใช้มาตรการตามเสาหลักความปลอดภัยทางถนน อาทิ เพิ่มศักยภาพการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยง ผลักดันให้เกิดยานพาหนะปลอดภัย ควบคุมคุณภาพความปลอดภัยยานพาหนะให้ได้มาตรฐานสากล เน้นพัฒนาคุณภาพถนนให้ดียิ่งขึ้น สร้างระบบสั่งการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ควรเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น ให้ขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายระดับท้องถิ่นให้สามารถจัดการปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง

3.เพิ่มศักยภาพการกำกับติดตาม อาทิ พัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล-คุณภาพชุดข้อมูล จัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน 4.พัฒนาโครงสร้างการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นปัจจัยในการนำคนออกจากถนน ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และ 5.เพิ่มการลงทุนสนับสนุนการเดินทางของกลุ่มเปราะบาง ทั้งเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนเดินเท้า และผู้ใช้จักรยาน …นี่เป็นอีกส่วนจากข้อเสนอเพื่อลด “อุบัติเหตุทางถนน” ลดภัย…

ลดปัญหา “รถ(ยัง)ชน-คน(ยัง)ตาย…”

เพื่อลด “เจ็บ-ตาย-ประเทศสูญเสีย”

ที่ “เทศกาลปีใหม่ 2567 ก็ไม่น้อย!!”.