ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในดินแดน ที่เคยเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างบาหลี เศรษฐกิจกระทบรุนแรง โรงเรียนสถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอนกว่าหนึ่งปีแล้ว นักเรียนของอินโดนีเซีย 68 ล้านคน ต้องหยุดเรียนไปโดยปริยาย

แล้วยังไปกระทบต่อแผนการของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ที่จะนำแผนนำพาประเทศชาติไปสู่ห้าอันดับสูงสุดของโลกด้านเศรษฐกิจภายในปี ค.ศ.2045 ( พ.ศ.2588 ) ด้วยศักยภาพของแรงงานฝีมือ

โนอาห์ ยาร์โรว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ประจำธนาคารโลก เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า อินโดนีเซียเผชิญวิกฤติทางการศึกษา ก่อนการระบาดใหญ่ และรูปแบบของเราแสดงออกมาว่า กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น หากต้องการจะลงแข่งในเศรษฐกิจโลก

ผลสะท้อนที่เห็นชัดเจน ก็คือรายงานของธนาคารโลกระบุว่า เมื่อประเมินจากการระบาดใหญ่แล้ว พบว่าจะทำให้กว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีประสิทธิภาพการอ่านออกเขียนได้ ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ( โออีซีดี )

ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นจาก 70% ของนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรฐานการอ่านออกเขียนได้ ในโครงการทดสอบของโออีซีดี ในปี 2018 ซึ่งอินโดนีเซียอยู่ในระดับต่ำ 8% ของ77ประเทศ ซึ่งเข้ารับการทดสอบ

ก่อนการระบาดใหญ่ แม้เด็กจะต้องเรียนหนังสือนานกว่า 12 ปี แต่เกณฑ์เฉลี่ยของเด็กที่ได้เรียนในประเทศอินโดนีเซีย คือ 7.8 ปีเท่านั้น ตามรายงานธนาคารโลก แล้วก็ลดลงมาเหลือ 6.9 ปีแล้ว เมื่อนับถึงเดือนก.ค.ปีนี้ หากประเมินออกมาเป็นตัวเลขแล้ว การไม่ได้เรียนหนังสือช่วงระบาดใหญ่ ทำให้สูญเสียรายได้ไปอย่างน้อย 253,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงศึกษาธิการของอินโดนีเซียยอมรับว่า การปิดเรียนทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวง ต่อการเรียนหนังสือของเด็ก ๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ไม่ได้เฉพาะอินโดนีเซีย ทางกระทรวงฯ ยังสนับสนุนให้โรงเรียนเริ่มการเรียนแบบปกติ แต่ยังต้องมีข้อจำกัดเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กลับมาโรงเรียน ได้กลับมาพบหน้าครูและเพื่อนนักเรียน รวมทั้งปลุกเร้าจิตวิญญาณแห่งการเรียนการสอนกลับคืนมา

ทั้งนี้ โรงเรียนในอินโดนีเซียปิดเรียนไปแล้ว 55 สัปดาห์ เมื่อนับถึงวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา เทียบกับของเวียดนามปิดไป 25 สัปดาห์ ญี่ปุ่น 37 สัปดาห์ และฟิลิปปินส์ 57 สัปดาห์ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุ หลายโรงเรียนในอินโดนีเซียยังต้องปิดเรียน มีบางส่วนที่เปิดได้ แต่ต้องจำกัดชั่วโมงเรียน

เมื่อต้องปิดเรียน โรงเรียนในอินโดนีเซียได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนให้ง่ายขึ้น ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งระบบเรียนออนไลน์ พร้อมให้บริการชั่วโมงอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยผู้ปกครองสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม โดยสื่อการเรียนการสอนทางวิทยุ และโทรทัศน์มีส่วนช่วยสนับสนุนตรงนี้ด้วย

แต่ผลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า นักเรียนใช้เวลาเรียนโดยเฉลี่ยวันละ 2.2-2.7 ชั่วโมง และมีไม่ถึงครึ่งที่ได้เรียนออนไลน์ แม้กว่า 90% จะได้งานหรือการบ้านจากคุณครู ซึ่งมักจะสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันแมสเซจ

อินโดนีเซียมีพื้นที่ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ แต่ฟลอริสชา อายู เทรสนาตรี นักวิจัยของสถาบัน SMERU ในกรุงจาการ์ตา บอกว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์ ยังมีปัญหาสัญญาอินเตอร์เน็ตกระท่อนกระแท่นในบางจุด มิหนำซ้ำบางครอบครัวยังมีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำเป็นของผู้ปกครอง ที่ต้องใช้เพื่อทำงานเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญบอกอีกว่า การขาดแคลนครู และค่าเรียนที่เพิ่มขึ้น และอื่น ๆ เป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กต้องขวนขวายหาทางได้เรียนหนังสือ หรือไม่ก็เลือกที่จะออกจากโรงเรียนไปเลย ช่วงเกิดการระบาดใหญ่ เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือ จึงถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล สำหรับเด็กระดับชั้นประถม รวมไปถึงอนาคตของประเทศชาติด้วย

อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก ประเมินว่าในปี 2035 นั้น 64% ของประชากรอินโดนีเซียจะเป็นวัยทำงาน ทำให้อินโดนีเซียจะได้เปรียบทางเศรษฐกิจโดยธรรมชาติ แต่ความเสี่ยงมากมายจะเกิดขึ้น หากประชากรไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแรงงานพัฒนาฝีมือ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการอย่างมาก เพื่อรูปแบบเศรษฐกิจที่นำสมัยติดอันดับ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS